เมื่อวันที่ 15 มี.ค.นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรมว.การคลัง และอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า 1.ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ว่า “รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ได้ลงประชามติเสียก่อนว่า ประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง” 2.ดังนั้น การลงมติวาระ 3 เพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภา ในวันที่ 17 มีนาคม 2564 จึงทำได้ ลงมติได้ เพราะเป็นอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญตามหมวด 15 ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่พูดถึงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ 3.การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนนี้ เป็นการแก้ไขโดยมีข้อจำกัดตามมาตรา 255 คือห้ามเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ และต้องดำเนินตามกระบวนการและขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมาตรา 256 (1)-(9) 4.หากรัฐบาลและวุฒิฯ ลงมติไม่รับร่างฯ ฉบับนี้ รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน เพราะร่างแก้ไขฯ ฉบับนี้ พรรครัฐบาลเป็นผู้เสนอแก้ไขเอง และได้ผ่านวาระ 1 และวาระ 2 มาแล้วด้วย 5.หากรัฐบาลลงมติไม่เห็นชอบ รัฐบาลก็ต้องไปทำประชามติ​ถามประชาชนว่า​ “ประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่” คือจะเอารัฐธรรมนูญ 2560​ หรือไม่ นายสุชาติ กล่าวต่อว่า 6.ความจริง​รัฐบาลและวุฒิฯ ควรรับร่างฯ ฉบับที่เสนอแก้ไขนี้ เพราะได้ล็อกหมวด 1 หมวด 2​ คือห้ามแก้ไขไว้​ หากไม่รับร่างฯ ​ฉบับนี้​ ตอนไปทำประชามติ ​จะไม่สามารถล็อกหมวดใดๆ​ไว้ 7.หากประชาชนลงประชามติ​ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560​ เพื่อสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ​ รัฐบาลก็ควรถามประชาชนด้วยว่า ในระหว่างยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560​ และกำลังร่างฯ ฉบับใหม่นี้​ จะใช้รัฐธรรมนูญฉบับใดในอดีต​แทน​ เช่น​จะใช้รัฐธรรมนูญ 2540 หรือไม่ 8.สำหรับบางคนที่ออกมาเรียกร้องแบบไม่มีข้อกฎหมายรองรับ เพียงพูดว่าลงมติวาระ 3 ทำไม่ได้ คนเหล่านี้ควรหยุดได้แล้ว เพราะดูไร้สาระ น่าละอาย 9.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นช่องทางสุดท้าย ที่จะสร้างความเป็นธรรมในสังคม และการพัฒนาประเทศอย่างสันติวิธี ดีกว่าปล่อยให้เหตุการณ์เป็นไปแบบในพม่า ดร.สุชาติ กล่าว