นางวนิดา อามาตย์ทัศน์ สหกรณ์จังหวัดยโสธร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดยโสธร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม “สวนภูมิกะภีม” เกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นสวนเกษตรแบบผสมผสานของคุณอรชร ดีแสน หนึ่งในสมาชิกโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านสานต่ออาชีพเกษตรกร จังหวัดยโสธร เลขทะเบียน 6346046 ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร คุณอรชร ดีแสน สมาชิกโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร จังหวัดยโสธร เลขทะเบียน 6346046 ที่อยู่ปัจจุบัน เลขที่ 236 หมู่ 16 ตำบลสวาท อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร วุฒิการศึกษา ปริญญาตรี ในอดีตตนเองทำงานเป็นลูกจ้างหน่วยงานราชการ ในกรุงเทพมหานคร สามีทำงานโรงงานฯ ปัจจุบันได้กลับบ้านมาอยู่กับครอบครัว ทำอาชีพเกษตรกร ยึดหลักคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พออยู่พอกิน ทำเกษตรแบบผสมผสาน บนเนื้อที่ จำนวน 4 ไร่ เริ่มแรกได้ทำเกษตรทั่วไป ใช้ปุ๋ยเคมีเหมือนชาวบ้านทั่วไป ขายได้ไม่คุ้มทุน ตนเองจึงเริ่มมาทำเกษตรปลอดภัย ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมี ปัจจุบันได้ทำเกษตรอินทรีย์โดยไม่มีการใช้เคมี ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ตนทำขึ้นเองโดยการเรียนรู้จากอินเตอร์เน็ต สามารถลดต้นทุนได้มาก มีรายได้จากการขายผักอินทรีย์ ประมาณ 600-900 บาทต่อวัน ก่อนเข้าร่วมโครงการฯ ตนทำเกษตรอินทรีย์แค่คิดว่าทำกินในครอบครัวและขายให้ได้แต่ละวันก็พียงพอ แต่หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ ตนได้เข้าร่วมประชุม และอบรมรับความรู้ตามโครงการต่างๆ ของจังหวัดยโสธร เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ โดยการแนะนำของเจ้าหน้าที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดยโสธร ทำให้ตนเองมีเครือข่ายด้านการเกษตร มีช่องทางการตลาดเพิ่มขึ้น มีองค์ความรู้ สามารถถ่ายทอดได้ ปัจจุบัน “สวนภูมิกะภีม”เกษตรอินทรีย์ มีผู้คนเดินทางมาซื้อผักอินทรีย์ ถึงที่สวน โดยที่ตนเองไม่ต้องนำผักไปขายที่ตลาด มีลูกค้ามารับถึงที่ คนรู้จักสวนมากขึ้น แต่ก่อนคนไม่รู้จัก ปัจจุบันรู้สึกว่าเรามีตัวตนขึ้นจากการทำเกษตรอินทรีย์ ปัญหาและอุปสรรคที่พบ การแก้ไขปัญหาการปลูกพืชฤดูฝน อยากจะมีโรงคลุมปลูกพืช ส่วนระบบน้ำเพียงพอแล้ว ส่วนเรื่องเงินทุน ตนคิดว่าเรื่องเงินทุนไม่ใช่สิ่งสำคัญมากเท่ากับองค์ความรู้ เราทำเมล็ดพันธุ์พืชผักไว้ปลูกตามฤดูกาลเองไม่ได้ซื้อ แต่บางชนิดเราซื้อ เพื่อให้สวนเรามีผักหลากหลายชนิด "ปัญหาอุปสรรคที่พบ ในส่วนของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดยโสธร จะนำข้อมูลที่ได้ ประสานงานหน่วยงานภาคี ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อหาทางแก้ไข ทั้งในส่วนของการเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยผ่านระบบสหกรณ์ หากสมาชิกโครงการฯมีความต้องการ และเรื่องของงบประมาณสนับสนุนในการจัดทำโรงคลุมป้องกันฝน การติดตั้งระบบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ การเพิ่มช่องทางการตลาดเกษตรอินทรีย์ อีกทั้ง การศึกษาอบรมและกระบวนการขอรับรองมาตรฐานต่างๆที่จำเป็นในการทำเกษตรอินทรีย์ และการผลักดันให้ “สวนภูมิกะภีม” เกษตรอินทรีย์ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการทำเกษตรอินทรีย์ อย่างมั่นคง ต่อไป"สหกรณ์จังหวัดยโสธร กล่าวเพิ่มเติม