NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ “นักวิทยาศาสตร์เผยภาพจุดร้อน (Hot spot) บนบรรยากาศของดาวพฤหัสบดีที่ถ่ายด้วยกล้องถ่ายภาพ JunoCam ของยานอวกาศจูโน เปรียบเทียบกับภาพที่บันทึกได้จากกล้องโทรทรรศน์เจมิไนนอร์ท (Gemini North Telescope) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8.1 เมตร ที่ตั้งอยู่บนโลก จุดร้อนบนดาวพฤหัสบดี ค้นพบครั้งแรกโดยยานอวกาศกาลิเลโอ (Galileo) เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2538 เป็นบริเวณที่มีสีเข้มกว่าพื้นที่โดยรอบ แต่เมื่อศึกษาโดยกล้องโทรทรรศน์เจมิไนนอร์ทในช่วงคลื่นอินฟาเรด บริเวณดังกล่าวจะสว่างขึ้น ทำให้เห็นรายละเอียดของจุดร้อนที่ชัดเจนขึ้น และเมื่อใช้กล้อง JunoCam ของยานอวกาศจูโน ถ่ายภาพในบริเวณเดียวกันขณะที่ยานโคจรโฉบเข้าใกล้ดาวพฤหัสบดี ครั้งที่ 29 (Perijove 29) ทำให้เห็นแนวพายุสีดำแบบความละเอียดสูง ช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถศึกษากลไกการเกิดพายุและคลื่นบนดาวพฤหัสบดี รวมไปถึงจะช่วยไขปริศนาเรื่องน้ำที่อยู่ในชั้นบรรยากาศดาวพฤหัสบดีด้วย วัตถุท้องฟ้านั้นอยู่ไกลจากเรามาก การศึกษาให้ครบทุกแง่ทุกมุมในคราวเดียวนั้นเป็นไปได้ยาก นักดาราศาสตร์จึงจำเป็นต้องคิดค้นเครื่องมือและเทคนิคการเก็บข้อมูลหรือวิเคราะห์ข้อมูลที่มีความหลากหลาย จนกว่าจะได้ข้อมูลที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือ เรียบเรียง : ธีรยุทธ์ ลอยลิบ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา อ้างอิง : [1] https://www.nasa.gov/image-feature/jpl/a-hot-spot-on-jupiter [2] https://www.missionjuno.swri.edu/junocam/processing