เมื่อวันที่ 14 มี.ค.นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ฐานะประธานรัฐสภา จะไม่นัดประชุมคณะกรรมการ 3 ฝ่าย คือ วุฒิสภา, ตัวแทนส.ส.ฝ่ายค้านและตัวแทน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล เพื่อตกลงถึงกรอบการประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 17 มีนาคม เพื่อลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... แล้ว เนื่องจากนายชวน เคยให้สัมภาษณ์แล้วว่าจะเดินหน้าพิจารณาไปตามระเบียบวาระที่กำหนดไว้ ดังนั้นในวันที่ 17 มีนาคม ตามวาระคือการลงมติวาระสาม ว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 กำหนดไว้ ส่วนกรณีที่จะมีผู้ที่ยกประเด็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหารือนั้น เป็นสิทธิที่ทำได้
"ในความเห็นของคณะทำงานพิจารณาด้านกฎหมายของประธานรัฐสภา นั้น ได้ทำความเห็นและสรุปว่าการลงมติของรัฐสภาในวาระสามนั้นสามารถทำได้ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบนี้คือการแก้ไขเพิ่มเติม ไม่ใช่เป็นกรณีที่ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าต้องนำไปทำประชามติถามประชาชนก่อน ดังนั้นตามขั้นตอนปฏิบัติของรัฐสภาต้องยึดตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด หากรัฐสภาไม่ลงมติตามขั้นตอน จะมีผู้ยื่นฟ้องร้องได้ ส่วนการลงมติของรัฐสภาจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่ดุลยพินิจของแต่ละบุคคล" นพ.สุกิจ กล่าว
เมื่อถามว่าประเด็นคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่ออำนาจรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ สมาชิกรัฐสภายังมีความเห็นแตกต่างกัน ในทางปฏฺิบัติจะมีการลงมติเพื่อตัดสินหรือไม่ นพ.สุกิจกล่าวว่า นายชวนเคยระบุไว้ว่าการประชุมต้องดำเนินการตามระเบียบวาระ ดังนั้นการลงมติที่จะเกิดขึ้นได้ในการประชุม คือ การลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนกรณีที่มีสมาชิกรัฐสภาเสนอให้ชะลอการลงมติวาระสาม เพื่อรอคำวินิจฉัยกลางของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น ในหลักการสามารถเสนอได้ แต่การปฏิบัตินั้นต้องยึดรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า หลังจากผ่านวาระสองแล้ว ต้องทิ้งไว้ 15 วัน จากนั้นจึงลงมติวาระสาม และแม้จะครบ 15 วันในวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา แต่การนัดประชุมวันที่ 17-18 มีนาคม นั้นเพราะเป็นความเห็นจากที่ประชุมร่วม 3 ฝ่าย