เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการลงมติของญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ของรัฐสภา ว่า ตนในฐานะผู้จุดประกายเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการเป็นผู้ยื่นญัตติให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจนทำให้สภาผู้แทนราษฎรเดินหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีหลายฝ่ายแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการลงมติพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ซึ่งตนเห็นว่าแต่ละฝ่ายมีวาระซ่อนเร้น โดยฝ่ายที่ไม่อยากให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะอ้างว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นโมฆะหรือตกไปแล้ว แต่ฝ่ายที่ต้องการจะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะเห็นว่าสามารถเดินหน้าลงมติในวาระ 3 ได้ นายเทพไท กล่าวอีกว่า ตนคิดว่าผู้ที่แสดงความเห็นได้อย่างเป็นกลางที่สุด คือ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพราะไม่มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยตรง และท่านเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งนายชวนได้วินิจฉัยว่าสามารถลงมติในวาระ 3 ได้ ซึ่งตนสนับสนุนแนวทางของนายชวน เพราะต้องเดินหน้าต่อไปให้เสร็จสิ้นกระบวนความ ส่วนหลังจากนั้น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะตกไปหรือไม่นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการทำการเสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล ดังนั้น ถ้ามีพรรคร่วมรัฐบาลพรรคใดไม่ลงมติสนับสนุนเรื่องนี้ ก็จะต้องตอบคำถามกับประชาชนว่ามีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มีพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรคมีท่าทีชัดเจนแล้ว ทั้ง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศลงมติเห็นชอบในวาระ 3 นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา สนับสนุนการลงมติวาระ3 และพรรคภูมิใจไทยที่ตนได้สอบถามนายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทองและโฆษกพรรคภูมิใจไทยแล้ว ได้รับการยืนยันว่าพรรคภูมิใจไทยพร้อมลงมติสนับสนุนด้วย นายเทพไท กล่าวว่า เหลือแต่พรรคพลังประชารัฐที่มีความเห็นต่างของสมาชิกบางคน ซึ่งตนขอเรียกร้องให้พรรคพลังประชารัฐแสดงความชัดเจนในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแกนนำพรรคฯ หรือนายวิรัช รัตนเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) น่าจะออกมาแสดงจุดยืนเรื่องนี้ และถ้าพรรคร่วมรัฐบาลไม่มีเอกภาพในการลงมติวาระ3 จะถือเป็นการเขียนด้วยมือลบด้วยเท้า รวมถึงเป็นการหลอกลวงประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน ทั้งที่ญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ดังนั้น ถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกตีตกไป พรรคร่วมรัฐบาลจะต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองร่วมกัน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะที่มีประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเงื่อนไขของการเข้าร่วมรัฐบาล จะต้องทบทวนท่าทีและเงื่อนไขการเข้าร่วมรัฐบาล ผู้สื่อข่าวถามว่าส.สของพรรคประชาธิปัตย์ได้พูดคุยถึงจุดยืนต่อเรื่องนี้บ้างหรือไม่ นายเทพไท กล่าวว่า สมาชิกพรรคทุกคนสนับสนุนแนวทางที่หัวหน้าพรรคเสนอต่อสาธารณชนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือหัวใจของพรรคปชป. เป็นจุดยืน เป็นหลักการ เป็นอุดมการณ์ของพรรค ดังนั้นพรรคปฏิเสธเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นจุดแข็งของพรรคปชป.มาตลอด 75 ปี ถ้ามีการบิดเบี้ยวหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของพรรค พรรคปชป.ก็ต้องกลับมาคุยเรื่องนี้อีกรอบหนึ่ง เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ว่าหากพรรคประชาธิปัตย์ถอนตัวจากรัฐบาล แล้วจะส่งผลที่นำไปสู่การยุบสภา นายเทพไท กล่าวว่า เป็นอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่จะตัดสินใจทางการเมือง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์คงไม่คิดถึงเรื่องสถานการณ์การเมืองในวันข้างหน้า แต่คิดถึงเรื่องท่าที จุดยืน และคำตอบที่จะให้กับสมาชิกพรรค เพราะถ้าเราไม่สามารถตอบคำถามนี้กับสมาชิกพรรคได้ จะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อพรรคประชาธิปัตย์ได้ เมื่อถามต่อว่าถ้ามีการยุบสภาจริง ก็นำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ภายใต้กติกาเดิมตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 นายเทพไท กล่าวว่า เป็นไปตามกระบวนการไม่มีใครคาดคิดหรือคาดการณ์อุบัติเหตุทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้เป็นเรื่องของผู้นำรัฐบาลที่จะต้องคิด หากบ้านเมืองเดินไปที่จุดเดิม ก็จะสร้างความขัดแย้งให้กับประชาชน อย่างน้อยที่สุดคนที่มาชุมนุมบนท้องถนนในตอนนี้เขายังต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนจะมีการเลือกตั้งใหม่ เพราะการเลือกตั้งภายใต้กติกาเดิม ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมได้