วันที่ 5 ก.ย.60 นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)จะเป็นประเด็นเรื่องความตกลงระหว่างประเทศไทยกับรัฐบาลราชอาณาจักรกัมพูชา การเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยงข้องภาษีเงินได้ ล่าสุดที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังได้เสนอร่างความตกลงเพื่อการเว้นภาษีซ้อนไทย กับ กัมพูชา และได้มอบหมายให้ทางกระทรวงต่างประเทศ ไปดำเนินการตามแบบวิธีการทูตและกฎหมายภายในเพื่อดำเนินการเรืองนี้ต่อไป ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการจัดทำการเจรจายกเว้นภาษีซ้อนตั้งแต่ปี 2507 ปัจจุบันมีอนุสัญญา รวม 60 ฉบับ โดยในกลุ่มอาเซียนประเทศไทยได้ทำไปแล้วทั้งหมด 8 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ ,ฟิลิปินส์, มาเลเซีย,เวียดนาม, ลาว, อินโดนีเซีย, พม่า เป็นต้น ยกเว้น ประเทศ กัมพูชา และบรูไน โดยประเทศกัมพูชาเป็นประเทศที่ 9 ที่จะมีร่างความตกลงดังกล่าว ส่วนเนื้อหาของข้อตกลงนั้นจะมีนัยสำคัญค่อนข้างมาก เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มส่งออกการลงทุนไปยังต่างประเทศมากกว่าการนำเข้าการลงทุนจากต่างประเทศ ดังนันจึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการจัดทำเรื่องภาษีซ้อน เพื่อให้การออกไปลงทุนในต่างประเทศของผู้ประกอบการได้รับการสนับสนุนที่ดีและไม่เกิดช่องว่างทางภาษี ขณะที่ในร่างการตกลงฉบับนี้ จะใช้กับผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย หรือ กัมพูชา หรือทั้ง 2 ประเทศ โดยบังคับฐานการเก็บภาษีที่มาจากรายได้ เช่น ผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ที่ไทย หรือ กัมพูชา จำนวน 183 วันหรือเกินครึ่งปี จะใช้ฐานการคิดภาษีที่ไทย หรือ กัมพูชาเป็นหลัก โดยกฎหมายฉบับนี้ยังระบุว่า ประเทศคู่สัญญาจะยอมให้ดำเนินการตามวิธีการนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการเลี่ยงภาษี และยอมให้คนที่อยู่ในประเทศของตนเองนำภาษีที่เสียไว้แล้วอีกประเทศหนึ่งมาหักจากภาษีที่ชำระในประเทศตนเองตามจำนวนภาษีที่ชำระไว้จริง แต่ไม่เกินในจำนวนภาษีที่คำนวณได้ในประเทศตนเอง “ยกตัวอย่างเช่น คนที่มีบริษัทและทำงานในประเทศไทยเป็นหลัก ต้องชำระภาษี 20 ล้านบาท และยังมีบริษัทลูกไปอยู่ที่กัมพูชา เมื่อต้องไปจ่ายภาษีที่กัมพูชาจะเสียที่ 10 ล้านบาท จำนวนที่เสียภาษีที่กัมพูชาดังกล่าวสามารถนำกลับมาคำนวณเพื่อหักภาษีจากจำนวนภาษีที่ต้องจ่าย 20 ล้านบาทได้ กล่าวคือ จะต้องชำระเพิ่มอีก 10 ล้านบาทที่เหลือเป็นต้น ส่วนบริษัทกัมพูชาที่มาตั้งบริษัทในประเทศไทย เสียภาษีในประเทศไทยแล้ว สามารถนำไปหักภาษีในประเทศกัมพูชาได้เช่นกัน” นอกจากนี้ความตกลงดังกล่าวยังจะรวมไปถึงการได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี และการขนส่งระหว่างประเทศ เช่น ภาษีเงินได้ทางเรือและทางบก จะเรียกเก็บภาษี ตามกฎหมายภายในของประเทศนั้นๆ โดยลดภาษีกึ่งหนึ่ง เพื่อให้เกิดแรงจูงใจการลงทุนในต่างประเทศได้เต็มที่ ส่วนประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในร่างสัญญาฉบับนี้ คือ จะเพิ่มขึ้นความสามารถในการแข่งขันให้กับทั้ง 2 ประเทศ , ส่งเสริมให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุน และ เทคโนโลยี, สร้างบรรยากาศการค้าและการขนส่งข้ามประเทศ และช่วยป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศ สามารถตรวจสอบธุรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เชื่อว่าเรื่องดังกล่าวถือเป็นความคืบหน้าอย่างหนึ่งที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ AEC