เกษตรกรไร่อ้อยเมืองกาญจนบุรี หยุดเผา หันมาสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุทางการเกษตร ขายใบอ้อยสร้างรายได้เพิ่ม 600 กว่าบาทต่อตัน
จังหวัดกาญจนบุรี ถือเป็นพื้นที่ทำการเกษตรที่สำคัญของประเทศไทย โดยมีพื้นที่ทำการเกษตรจำนวน 3,030,599 ไร่ เป็นพื้นที่ปลูกข้าว จำนวน 439,342 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 14 ของพื้นที่ทางการเกษตรทั้งหมด และพื้นที่ปลูกอ้อย จำนวน 735,127 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 24 ของพื้นที่ทางการเกษตรทั้งหมด ซึ่งการทำการเกษตรของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ยังคงมีการเผาช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรเป็นอย่างมาก กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร โดยมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และกระตุ้นจิตสำนึกของเกษตรกรให้หยุดการเผาในพื้นที่การเกษตร บูรณาการร่วมกันระหว่างกับสำนักงานเกษตรจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ร่วมดำเนินกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ จนส่งผลให้เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตทำการเกษตรแบบปลอดการเผา ใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุทางการเกษตร ส่งผลให้สิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของประชาชนดีขึ้น และยังสร้างมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการลดการเผาอ้อยได้อีกด้วย
นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดกิจกรรมการรณรงค์ลดการเผาในท้องถิ่น ภายใต้โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร ปี 2564 ณ แปลงอ้อยเกษตรกรต้นแบบ หมู่ที่ 4 ตำบลวังเย็น อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ว่า ปัญหาหมอกควันปกคลุมและมลพิษทางอากาศเกิดเป็นประจำทุกปี ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการเผาทำลายทั้งในพื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตร ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และพื้นที่ทางการเกษตร คือ ทำให้เกิดปัญหาดินเสื่อมโทรม ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ภาครัฐจึงให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินนโยบายการควบคุมการเผาในพื้นที่การเกษตร และให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบจากการเผาในพื้นที่การเกษตร สร้างทางเลือกการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุทางการเกษตร และเทคโนโลยีทางการเกษตรทดแทนการเผา เพื่อเกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตไปสู่ “การทำการเกษตรปลอดการเผา” และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยจังหวัดกาญจนบุรีเป็นอีกหนึ่งพื้นที่เป้าหมาย เนื่องจากเป็นพื้นที่เผาไหม้และจุดความร้อน (hotspot) สะสมสูงสุดอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย
นายมาโนช แย้มชื่น เจ้าของแปลงอ้อยเกษตรกรต้นแบบ หมู่ที่ 4 ตำบลวังเย็น อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร เปิดเผยว่า มีอาชีพทำไร่อ้อยและมันสำปะหลังมานานกว่า 10 ปี มีพื้นที่ทำการเกษตร 150 ไร่ ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตจะใช้วิธีจุดไฟเผาใบอ้อยเพื่อให้สะดวกในการตัดอ้อย และเมื่อตัดเสร็จก็จะเผาซากเศษวัสดุเพื่อเตรียมปลูกในรอบใหม่ จนกระทั่งกรมส่งเสริมการเกษตร ได้เข้ามาจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้ และเสนอทางเลือกลดการเผา รณรงค์ลดการเผาในท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นเกษตรกรให้ตระหนักถึงผลกระทบจากการเผาในพื้นที่การเกษตร พร้อมทั้งนำเสนอทางเลือกการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุทางการเกษตรและเทคโนโลยีทางการเกษตรทดแทนการเผา นำร่องสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผา โดยการไถกลบตอซังอ้อย และทำปุ๋ยหมักจากใบอ้อยและฟางข้าว การทำปุ๋ยหมักไม่กลับกอง เป็นต้น
โดยการปรับเปลี่ยนในช่วงปีแรก จะลดการเผาแบบค่อยเป็นค่อยไปเนื่องจากยังไม่มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย แต่ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนลดการเผา 100% ตั้งแต่ขั้นตอนการตัดอ้อย โดยการใช้เครื่องจักรกลเก็บใบอ้อย การสางใบอ้อย โดยมีโรงงานไฟฟ้าพลังงานสะอาด รับซื้อใบอ้อย ในราคาตันละ 600 บาท ใบอ้อยสับ ราคาตันละ 750 บาท ชานอ้อย ราคาตันละ 750 บาท ในขณะที่โรงงานก็รับซื้ออ้อยในราคาที่สูงขึ้น รวมถึงมีการจัดการซากเศษวัสดุทางการเกษตรด้วยการไถกลบทดแทนการเผา ซึ่งแม้จะมีต้นทุนด้านค่าแรงที่สูงขึ้น แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการจำหน่ายผลผลิตที่มีคุณภาพและโรงงานรับซื้อที่สูงขึ้นก็ถือว่าคุ้มค่า และในฐานะที่เป็นผู้นำชุมชน ยังได้ชักชวนให้เกษตรกรในพื้นที่ลดการเผาโดยสร้างแรงจูงใจให้เห็นถึงผลกระทบจากการเผาและนำเสนอทางเลือกการจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผาอีกด้วย
“จากการดำเนินการลดการเผาใบและไถกลบซากเศษวัสดุทดแทนการเผาเป็นเวลาต่อเนื่องมา 2 ปี ได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเรื่องของคุณภาพดินที่ดีขึ้น ดินร่วน ดินฟู และเมื่อนำมูลสัตว์มาช่วยบำรุงดิน มีการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ก็ส่งผลให้การใช้ปัจจัยการผลิตลดลง ต้นทุนการผลิตก็ลดลงตามไปด้วย ในขณะที่คุณภาพและปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังสามารถนำเศษวัสดุมาใช้ประโยชน์เพิ่มมูลค่า เช่นอัดฟ่อน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการทำเกษตรอื่นๆ ได้อีกด้วย”