จากกรณีที่ผู้ใช้เฟสบุ๊ค Chidsanuchcha Fiats ได้โพสต์เรื่องราวว่าตนถูกตำรวจจราจรเขียนใบสั่งทั้งที่จอดข้างแถบขาวดำ ไม่มีป้ายห้ามใดๆ แต่ตำรวจจราจรเขียนใบสั่งให้ว่าเธอฝ่าฝืนจอดรถในที่ห้ามจอด โดยอ้างอิงจากป้ายเตือนที่ติดอยู่ฝั่งตรงข้าม หนำซ้ำยังไม่มีการเขียนใบสั่งหรือให้การอธิบายใดๆ กับรถที่จอดในโซนขาวแดงแม้แต่คันเดียว ต่อมาเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในโลกออนไลน์ บางคนก็บอกว่าแม้จะไม่มีป้ายห้าม แต่ดูจากสภาพแวดล้อมอีกครั้งว่าเหมาะสมกับการจอดรถได้หรือไม่ บางคนก็อ้างว่าจอดได้ เพราะไม่ใช่ที่ห้ามจอดแต่อย่างใด วันนี้ทีมไขประเด็นได้นำเอาข้อแตกต่างของสีที่เห็นบนของทางมาเป็นความรู้ เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนกระจ่างกันว่า สีไหน จอดได้ หรือจอดไมได้ และแต่ละสีมีความหมายว่าอย่างไร จากข้อกำหนดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง สัญญาณจราจร เครื่องหมายจราจร และความหมายของสัญญาณจราจรและเครื่องหมายจราจร แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 เครื่องหมายจราจรบนพื้นทางประเภทบังคับ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสีที่ของทางก็จะมี 3 แบบ คือ “เครื่องหมายห้ามจอดรถ” มีลักษณะเป็นแถบสีเหลืองสลับขาว แสดงที่ขอบคันหิน หรือขอบทางด้านซ้ายของทางเดินรถ หรือทางจราจร หรือที่อื่นๆ หมายความว่า ห้ามจอดรถทุกชนิดระหว่างแนวเขตที่กำหนด เว้นแต่การหยุดรับส่งคน หรือสิ่งของชั่วขณะซึ่งต้องกระทำโดยมิชักช้า (พบ.๙) “เครื่องหมายห้ามหยุดรถ” มีลักษณะเป็นแถบสีแดงสลับขาว แสดงที่ขอบคันหิน หรือขอบทางด้านซ้ายของทางเดินรถ หรือทางจราจรหรือที่อื่นๆ หมายความว่า ห้ามหยุดรถ หรือจอดรถทุกชนิดระหว่างแนวเขตที่กำหนดเป็นอันขาด (พบ.๑๐) ซึ่ง 2 ข้อนี้ ผู้ใช้รถใช้ถนนเกือบทุกคนทราบกันดีอยู่แล้ว แต่ที่อาจมีการสับสนกันอยู่คือส่วนของสีขาวดำ ซึ่งถูกระบุไว้ใน ส่วนที่ 2 หมวด เครื่องหมายจราจรบนพื้นทางประเภทเตือน “เครื่องหมายขาวดำ” มีลักษณะเป็นแถบสีขาวสลับสีดำ แสดงหรือทำให้ปรากฏที่ขอบคันหินหรือสิ่งกีดขวางอื่นๆ เพื่อให้ผู้ใช้ทางเห็นขอบคันหินหรือสิ่งกีดขวางนั้นๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น (พต.๘) ทั้งนี้ไม่ได้มีการระบุว่า “ห้ามจอด-ห้ามหยุด” อย่างแน่ชัด แต่ความหมายคือเพื่อให้เห็นว่าตรงนี้มีขอบฟุตบาท จอดได้หรือไม่ได้อยู่ที่ว่าเป็นที่คับขันหรือไม่ ตัวอย่างเช่น บริเวณใกล้ๆป้ายรถเมล์จะทาสีขาวดำมาจนถึงหน้าป้ายรถเมล์แล้วก็เป็นขาวเหลืองต่อไป ซึ่งการจอดรถตรงขาวดำนั้นทำให้กีดขวางทางรถที่จะเข้าป้าย ขับรถแล้วต้องรู้กฎหมาย เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลา เสียเงินค่าปรับ และยังเป็นการเพิ่มความปลอดภัยต่อตนเอง และผู้อื่นในการใช้รถใช้ถนนด้วย