อธิบดี พช.นำผู้บริหาร หารือการขับเคลื่อนโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ แนะต้องเชื่อมร้อยบูรณาการงานกับทุกภาคี ใช้เทคโนโลยีสร้างฐานข้อมูล เพื่อสืบสานรักษาภูมิปัญญา และอนุรักษ์ทรัพยากรให้คงอยู่สืบไป
วันที่ 12 มีนาคม 2564 เวลา 08.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในการประชุมผู้บริหารขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กรมการพัฒนาชุมชน (อพ.สธ. พช.) โดยมีนายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายไพบูลย์ บูรณสันติ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ นายภูษิต ลัทธิธนธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล และผู้บริหาร ข้าราชการ กรมการพัฒนาชุมชน เข้าร่วม ณ ห้องสัมมนา 3003 ชั้น 3 กรมการพัฒนาชุมชน อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษาฯ
การประชุมผู้บริหารขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กรมการพัฒนาชุมชน (อพ.สธ. - พช.) ในครั้งนี้ กำหนดขึ้นเพื่อรายงานผลการดำเนินงานความก้าวหน้าโครงการในช่วงปี 2561 -2564 และร่วมพิจารณา หารือ แนวทางการขับเคลื่อนงานให้สอดคล้องกับแผนแม่บทของ อพ.สธ. ระยะ 5 ปีที่เจ็ด (1 ตุลาคม 2564 – 30 กันยายน 2569) ภายใต้ 3 กรอบการดำเนินงาน 3 ฐานทรัพยากร ได้แก่ ทรัพยากรกายภาพ ทรัพยากรชีวภาพ และทรัพยากรวัฒนธรรมและภูมิปัญญา โดยกิจกรรมสนับสนุนการดำเนินงาน 8 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมปกปักทรัพยากร กิจกรรมสำรวจเก็บรวบรวมทรัพยากร กิจกรรมปลูกรักษาทรัพยากร กิจกรรมอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากร กิจกรรมศูนย์ข้อมูลทรัพยากร กิจกรรมวางแผนพัฒนาทรัพยากร กิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากร และกิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากร ทั้งนี้ จากประชุมคณะทำงานจัดทำแผนแม่บทโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ระยะ 5 ปีที่เจ็ด กลุ่ม G4 กลุ่มการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากร เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2564 ที่ประชุมมีประเด็นหลักในการเน้นกิจกรรมศูนย์ข้อมูลทรัพยากร โดยขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการพัฒนาการจัดการฐานข้อมูลให้สมบูรณ์ เป็นปัจจุบันและเชื่อมกับฐานข้อมูลทรัพยากรของ อพ.สธ. เพื่อสนับสนุนเป้าหมาย อพ.สธ. คือ พัฒนาบุคลากร เพื่ออนุรักษ์พัฒนาทรัพยากร ให้เกิดประโยชน์กับมหาชนชาวไทย และมีระบบข้อมูลที่สื่อถึงกันทั่วประเทศ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า “การรับสนองงานขับเคลื่อนโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เป็นดังการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล ทรงห่วงใยพสกนิกรไทยในทุกด้าน จวบจนปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ยังทรงดำเนินตามพระราชปณิธานสืบสาน รักษา และต่อยอด ในพระราชดำริการพัฒนา ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โครงการตามพระราชดำริ และอีกนานัปการที่ยังประโยชน์สู่ปวงชน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงสานพระราชปณิธานต่อ โดยพระราชทานให้โครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา เป็นผู้ดำเนินการจัดสร้างธนาคารพืชพรรณขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 เป็นต้นมา
การดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) กรมการพัฒนาชุมชน เป็นหนึ่งใน 204 หน่วยงานที่ร่วมสนองพระราชดำริ โดยพื้นที่และกิจกรรมของโครงการได้ขยายและกระจายออกไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ จำนวน 16 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน 11 แห่ง ศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชน 3 แห่ง วิทยาลัยการพัฒนาชุมชน อ.บางละมุง จ.ชลบุรี และส่วนงานพัฒนาชุมชนในศูนย์การพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา รวมทั้งมีแนวทางการดำเนินงานที่หลากหลายมากขึ้นโดยลำดับ
กรมการพัฒนาชุมชน ถือได้ว่ามีงานที่หลากหลายรอบด้าน เพื่อตอบโจทย์การส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนตั้งแต่ระดับปัจเจก ไปจนถึงการเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนฐานรากให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ เป็นสิ่งที่ท้าทายในการสร้างให้เกิดรูปธรรมอย่างยั่งยืน ฉะนั้นการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กรมการพัฒนาชุมชน (อพ.สธ. - พช.) โดยแผนแม่บท อพ.สธ.ระยะ 5 ปีที่ 7 (1 ตุลาคม 2564 – 30 กันยายน 2569) เราต้องมีหมุดหมายที่ชัดเจน เป็นระบบ ในทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ต้องสามารถดึงศักยภาพของทุนทางสังคม ชุมชน ที่มีออกมาได้อย่างเต็มที่ โดดเด่นเป็นแบบฉบับของกรมการพัฒนาชุมชน ดังนั้นการขับเคลื่อนโครงการให้เกิดผลสัมฤทธิ์จึงไม่ใช่ภารกิจของบางสำนัก กอง แต่ต้องเป็นการบูรณาการในภาพใหญ่ของกรมการพัฒนาชุมชน ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค อีกทั้งต้องพยายามผนวกเชื่อมโยงกับทุกงาน ทุกภาคีเครือข่ายของกรมการพัฒนาชุมชนให้จงได้
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริต่าง ๆ ทางการศึกษา โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อให้ประชาชนบนแผ่นดินไทยทุกคน ได้มีความรู้ความสามารถในการประกอบกิจการงานอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิต หาเลี้ยงดูครอบครัวและพึ่งพาตนเองต่อไปได้ ฉะนั้นแล้ว การสร้างให้เกิดแหล่งข้อมูล ความรู้ที่สมบูรณ์ และเป็นกลางที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรมพืช นับว่าเป็นสารตั้งต้นที่สำคัญยิ่งที่ส่วนกลางต้องเร่งดำเนินการ ทั้งในรูปแบบสารานุกรม และระบบสารสนเทศ หรือแพลตฟอร์ม ที่ง่ายต่อการเข้าถึงและการนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งในเบื้องต้นคนของกรมการพัฒนาชุมชนต้องรู้และเข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน ประการต่อมาคือการสร้างคน ให้เกิดสำนึก หรือเป็นจิตอาสา ดึงพลังมวลชนในการร่วมคิด ร่วมปฏิบัติ สนับสนุนขยายผลการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรมพืชในถิ่นของตนเอง เชื่อว่าด้วยภารกิจของกรมการพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนภูมิภาคย่อมสร้างให้เกิดการสานสามัคคีกับภาคีเครือข่ายที่หลากหลายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งหากสร้างความสำเร็จในข้อนี้ได้ย่อมเชื่อมโยงผลดีให้เกิดขึ้นกับการสร้างแหล่งศึกษาเรียนรู้เพื่อสนองงานตามพระราชดำริ เห็นควรว่าทุกอำเภอควรมีพื้นที่ดังกล่าวอย่างน้อย 1 แห่ง ง่ายที่สุดคือการบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคการศึกษา และศาสนา เพราะทุกอำเภอมีวัด โรงเรียน หรือในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” และหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีอยู่กว่า 44,835 หมู่บ้าน ในการสร้างแหล่งดำเนินกิจกรรมในฐานการรักษาทรัพยากรวัฒนธรรมและภูมิปัญญาแก่เยาวชน และประชาชนในพื้นที่ เป็นต้น
ขอให้ทุกฝ่ายดำเนินการโดยคำนึงถึงการเชื่อมร้อยกันเป็นระบบแบบแผน พวกเราคือผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent) เพื่อสร้างสิ่งที่ดี (Change for Good) มั่นคงให้เกิดขึ้นกับประเทศชาติ อยากชวนให้ทุกท่านคิดว่าการขับเคลื่อนโครงการ อพ.สธ. ไม่ใช่เพียงเพื่อการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชเท่านั้น ซึ่งหากในวันนี้พวกเรากรมการพัฒนาชุมชนทั้งส่วนกลางและภูมิภาค สามารถบูรณาการปรับประยุกต์งานในหน้าที่ของเราให้สอดประสานกับทุกกิจกรรมและกรอบงานของโครงการ อพ.สธ.ให้เกิดความลงตัวที่สุด อาทิ การขับเคลื่อนการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ OTOP และ OTOP นวัตวิถี เป็นต้น จะเป็นการยกระดับต่อยอดไปถึงการสร้างพื้นที่อุดมสมบูรณ์มีชีวิตชีวา สร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีได้ต่อไป” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าว