วันที่ 12 มี.ค.64 พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟชบุค ส่วนตัว "Tawee Sodsong - พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง" ในหัวข้อ "รัฐบาลต้องหยุดการรวบอำนาจและเลิก “ลวง” ในการของบประมาณเพิ่มพื้นที่ป่าไม้" ปัญหา ‘ป่ารุกคน และคนรุกป่า’ อย่างกรณี ชุมชนชาติพันธุ์บางกลอย-ใจแผ่นดิน จังหวัดเพชรบุรี ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีอีกระลอกที่ปรากฏต่อสังคมในขณะนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากกฏหมายและประกาศแนวเขตหรือพื้นที่ป่าประเภทต่างๆ ตามกฎหมายทับชุมชน ทับที่เอกชน ทับที่ดินของรัฐด้วยกันเองเป็นปฐมบทปัญหาที่ส่งผลกระทบจากอดีตสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากการประกาศแนวเขตป่าตั้งแต่อดีตมิได้มีการกันแนวเขตหรือจำแนกพื้นที่ของประชาชนที่ได้อยู่อาศัยหรือทำประโยชน์ก่อนการประกาศแนวเขตของรัฐ ส่งผลให้ประชาชนเหล่านั้นมีสถานะเป็นผู้อยู่อาศัยในที่ดินของรัฐ การนิยาม “พื้นที่ป่าไม้” ตามกฎหมาย กับตามความเป็นจริง แตกต่างกัน การนิยามป่า ตามกฎหมายป่าไม้จะเหมาคลุมทุกพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิตามกฎหมายที่ดินและในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีแนวเขตทับซ้อนในพื้นของรัฐและเอกชน มีมาตรการบังคับที่มีการจำกัดสิทธิและระบุโทษอย่างเข้มข้น ส่วนพื้นที่ป่าตามความเป็นจริงจะปรากฏรายงานผลการจัดทำข้อมูลพื้นที่ป่าไม้ของคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่รายงานให้กรมป่าไม้ต่อเนื่องทุกปี และเมื่อเร็วๆนี้สำนักเศรษฐกิจป่าไม้ กรมป่าไม้ ได้เผยแพร่ “พื้นที่ป่าไม้ ของประเทศไทย ปี พ.ศ.2563” ออกมาที่มีข้อเท็จจริงและสะท้อนถึงปัญหาที่ขอแสดงทัศนะส่วนตัว คือ “พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยลดลงต่อเนื่อง น่าเป็นห่วง” “พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทย พ.ศ.2563” มีพื้นเหลืออยู่ทั้งสิ้น 102,484,072.71 ไร่ หรือร้อยละ 31.64 ของพื้นที่ประเทศ ลดน้อยลงกว่าปี พ.ศ.2562 ซึ่งมีพื้นที่ป่าไม้เหลืออยู่ทั้งสิ้น 102,353,484.76 ไร่ หรือร้อยละ 31.68 ของพื้นที่ประเทศ หรือกล่าวได้ว่าหนึ่งปีผ่านมาพื้นที่ป่าไม้ลดลงไป 130,587.95 ไร่ โดยพบการลดลงของพื้นที่ ป่าไม้ในจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย และน่าน ซึ่งอยู่ในถสานการณ์ที่น่าเป็นห่วง สถิติพื้นที่ป่าไม้ลดลงคือ ปี พ.ศ.2561 พื้นที่ป่าไม้ทั้งประเทศเหลืออยู่ จำนวน 102,488,302.19 ไร่ หรือร้อยละ 31.68 ปี พ.ศ.2562 พื้นทีป่าไม้ทั้งประเทศเหลืออยู่จำนวน 102,484,072.71 ไร่ หรือร้อยละ 31.68 (ลดลงจากปี พ.ศ.2561 จำนวน 4,229.48 ไร่) ปี พ.ศ. 2563 พื้นที่ป่าไม้ทั้งประเทศเหลืออยู่ จำนวน 102,353,484.76 ไร่ หรือร้อยละ 31.64 (ลดลงจากปี พ.ศ. 2562 จำนวน 130,587.95 รัฐบาล “ลวง” ว่าพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้นเพื่อของบประมาณต่อสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาล โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ชี้แจงเพื่อของบประมาณต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ. 2464 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 ว่าผลงานสำคัญสำคัญในปี 2363 สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าไม้จาก พ.ศ. 2562 มากขึ้นจำนวน 107,850 ไร่ ซึ่งไม่เป็นความจริงและตรงกันข้ามกับที่คณะวนศาสตร์ฯ ตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์และวิชาการว่าปี 2563 พื้นที่ป่าไม้ได้ลดลง (หายไป) จำนวนถึง 103,587.95 ไร่ และกระทรวงทรัพย์ฯ ยังคาดการณ์ว่าจะเพิ่ม “พื้นที่สีเขียวที่ได้รับการอนุรักษ์และฟื้นฟูร่วมถึงการปลูกใหม่” ทั้งประเทศ ใน ปี พ.ศ. 2564 เป็นพื้นที่ จำนวน 103,594,720 ไร่ (หรือประมาณร้อยละ 32.02 ) คือ พื้นที่ป่าไม้ต้องเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2562 อีกมีจำนวน 1,241,235.24 ไร่ ส่วนตัวผมแล้วเห็นว่าเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอนเนื่องจากที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2561 2562 และ 2563 พื้นที่ป่าไม้ของไทยมีแนวโน้มลดลงมาโดยตลอด ไม่มีท่าทีจะเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด การใช้ข้อมูลไม่ถูกต้องต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่ายจ่ายงบประมาณ เห็นว่ารัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ปลัดกระทรวง อธิบดี และ ผอ.สำนักงบประมาณที่รับผิดชอบร่วมกัน จะต้องตรวจสอบความถูกต้อง มิเช่นนั้นสภาผู้แทนราษฎรเป็นสถานที่รับรองเรื่อง “ลวง” ในการของบประมาณและถือว่าเป็นการส่อไปทางไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกด้วย ในประเด็นการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ ผม ในฐานะกรรมาธิการงบประมาณได้ทำการทักท้วงว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ได้ เพราะในปี พ.ศ. 2562 จำนวนพื้นที่ป่าไม้ลดลงกว่าปี พ.ศ. 2561 ตามบันทึกชวเลขเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 (หน้าที่ 7/3 ) แต่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมผู้ชี้แจงไม่ได้ตอบคำถามให้ชัดเจน เพียงแต่บอกว่าพื้นที่ป่าไม้น่าจะเพิ่มขึ้นเท่านั้น “พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทย” เป็นข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์บนพื้นฐานวิชาการ ข้อมูลพื้นที่ป่าไม้ของคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถือได้ว่าเป็นข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์บนพื้นฐานวิชาการ การนิยาม “พื้นที่ป่าไม้” ของไทยถูกกำหนดขึ้นตามมาตรฐานที่นานาชาติเป็นสากลที่ใช้ทั่วโลก โดยมีการจำแนกพื้นที่ป่าไม้จากภาพดาวเทียม ได้กำหนดขนาดของพื้นที่ขั้นต่ำที่มีต้นไม้ขึ้นอยู่ไว้ไม่น้อยกว่า 3.125 ไร่ หรือ เท่ากับ 0.5 เฮกตาร์ และหมายรวมถึงทุ่งหญ้าและลานหินที่มีอยู่ตามธรรมชาติปรากฏล้อมรอบด้วยพื้นที่ที่จำแนกได้ว่าเป็นพื้นที่ป่าไม้ โดยไม่รวมถึงสวนยูคาลิป ตัส หรือพื้นที่ที่มีต้นไม้ แต่ประเมินได้ว่าผลผลิตหลักของการดำเนินการไม่ใช่เนื้อไม้ ได้แก่ พื้นที่วนเกษตร สวนผลไม้ สวนยางพารา และสวนปาล์ม” นิยามดังกล่าว ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับนิยามการกำหนดพื้นที่ป่าไม้ของององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO โดยยึดตามขนาดของพื้นที่ขั้นต่ำดังกล่าวเป็นสำคัญ หากพื้นที่ใดมีต้นไม้ขึ้นอยู่แต่มีขนาดความต่อเนื่องน้อยกว่า 3.125 ไร่ จะถือว่าไม่ใช่พื้นที่ป่าไม้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา กรมป่าไม้ได้มอบหมายให้คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยรายปีจนถึงปัจจุบัน และในการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ใช้ข้อมูลภาพดาวเทียม เซนทิเน็ล 2 (Sentinel-2) ความละเอียดจุดภาพ 10 เมตร ของสหภาพยุโรป เป็นหลักในการปฏิบัติงาน ร่วมกับการใช้ข้อมูลภาพดาวเทียมแลนด์แซท 8 (Landsat ? ในกรณีที่มีสถานการณ์ข้อมูลภาพดาวเทียม Sentinel-2 ไม่มีความชัดเจนก็จะได้นำข้อมูลภาพดาวเทียม Landsat 8 มาพิจารณาประกอบ ยกตัวอย่าง เช่น ในพื้นที่ที่มีเมฆปกคลุมภาพ หรือในพื้นที่ที่มีฝุ่นละอองหรืออนุภาคขนาดเล็กในชั้นบรรยากาศเป็นจำนวนมาก แต่ข้อมูลภาพจากดาวเทียม Sentinel-2 มีความละเอียดจุดภาพเท่ากับ 10 เมตร ทำให้ข้อมูลพื้นทีป่าไม้นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นมามีความถูกต้องแม่นยำสูงและสามาถเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ใน ปีพ.ศ.2561 ปี พ.ศ.2562 และ 2563 ที่กล่าวมาข้างต้น ประเทศไทยมีความล้มเหลวในการปฏิรูปที่ดิน ป่าไม้ และทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรที่ดิน ป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติอื่นในประเทศไทยมีความพอเพียงสำหรับใช้ประโยชน์ของคนไทยทุกคนที่ปัจจุบัน ประเทศไทยมีพื้นที่ประมาณ 517,645.92 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 323,528,699.65 ไร่ (1 ตร.กม. เท่ากับ 625 ไร่)อ้างอิง มีประชากรแยกเป็นผู้ที่มีสถานะบุคคลเป็นสัญชาติไทยประมาณ 65,981,959 คน และสถานะไม่มีสัญชาติไทย ประมาณ 944,778 คน (เป็นข้อมูลทตามประกาศสำนักทะเบียน กระทรวงมหาดไทยสำรวจบุคลที่เกิดในประเทศไทยที่รุ่น ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ย้ายถิ่นเข้ามาในประเทศไทยทั้งที่มีหลักฐานการเกิด และไม่มีหลักฐานการเกิด) หากมีการปฏิรูปที่ดิน ป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาตินำไปจัดสรรอย่างเป็นธรรมและแบ่งปัน ไม่ถูกผูกขาด กำกับการควบคุม หรือ กระจายการถือครองอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้ที่ดินและป่าไม้กระจุกตัวอยู่ในมือรัฐ และเอกชนคนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้ทำประโยชน์จากที่ดินเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ทระบบที่ดินของไทยได้แบ่งเป็น 2 ระบบ คือ 1) กรรมสิทธิ์ที่ดิน ป่าไม้เป็นของรัฐ ที่ถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่มีองค์กรรัฐดูที่ดิน ป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติที่มีกฎหมายเฉพาะให้หน่วยงานของรัฐดูแล อาทิ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันพืช กรมป่าไม้ สำหักงานปฏิรูปที่ดิน ฯ เป็นต้น ที่แต่ละองค์กรมีแนวเขตประเภทที่ดินประกาศเป็นเขตรับผิดชอบพาะที่ดินของรัฐของแต่ละหน่วยงานเมื่อรวมกันแล้วประมาณ 465 ล้านไร่เศษ (มากกว่าเนื้อที่ประเทศไทยประมาณ 323 ล้านไร่เศษ) ที่มีปัญหาที่ดินของรัฐทับซ้อนระหว่าหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง และกับที่ดินเอกชนจากอดีตมาจนปัจจุบัน 2) ระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินของเอกชนตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ปัจจุบันที่ดินมีเอกสารสิทธิโฉนดที่ดินเอกชนมีจำนวนประมาณ 128.2 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 40 ของที่ดินทั้งหมดของประเทศปัจจุบัน เอกสารสิทธิในที่ดินเอกชนทั้งหมด 34.481 ล้านแปลง มีผู้ถือกรรมสิทธิ์ 17.210 ล้านราย กรณีปัญหาพื้นที่ป่าไม้ลดลงเหลือน้อยทั้งที่กฎหมายและอาณาเขตที่เรียกชื่อป่าต่าง ๆ และที่ดินรัฐรวมกันมากกว่าที่ดินของประเทไทยด้วยซ้ำ (ทับซ้อมกัน) เป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตของปัญหาที่ดินและป่าไม้ที่เกิดจากระบบรัฐรวมศูนย์ ทำให้ยิ่งปฏิรูปหรือยิ่งพัฒนาป่าไม้ยิ่งหมดไป การเป็นรัฐรวมศูนย์ส่งผลให้แยกคนกับป่าออกจากกัน รัฐไม่เชื่อถือในเรื่องการกระจายอำนาจและไม่ให้คุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หลักการที่ว่า “คนอยู่กับป่า” แล้วคนจะเป็นนักอนุรักษ์ เป็นเจ้าหน้ที่ป่าไม้เอง รัฐไม่ให้ความเชื่อยังมองเป็นผู้มีปัญหา และเป็นผู้ผิดกฎหมาย กระจายอำนาจและนำปฏิญาณสหประชาชาติเป็นแนวทางแก้ปัญหา ตลอดระยะเวลาเกือบ 100 ปีผ่านมารัฐไม่สามารถแก้ปัญหาที่ดิน ป่าไม้และไม่สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ได้เลย ทั้งที่รัฐได้ใช้เงินภาษีจากประชาชนที่จัดเป็นงบประมาณแผ่นดินจำนวนมาก นอกจากความล้มเหลวในการแก้ปัญหาแล้วยังได้สร้างความเหลื่อมล้ำ ความขัดแย้งในเรื่องที่ดินและป่าไม้ขยายกว้างที่สลับซับซ้อนจนยากจะแก้ไขด้วยวิธีเดิม ยิ่งแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติกำหนด ให้มีพื้นที่สีเขียวภายในปี พ.ศ.2580 (อีก16 ปี) ร้อยละ 55ของพื้นที่ประเทศหรือประมาณ 177,940,784ไร่ นโยบายป่าไม้แห่งชาติกำหนดให้มีพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศอย่างน้อยในอัตราร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ ประมาณ 129,411,479 จากพื้นที่ทั้งประเทศ การกำหนดแผนและนโยบายดังกล่าวไม่สอดคล้องกับ “ความเป็นจริงในสังคม” จะสร้างปัญหาทำให้การขัดแย้งในสังคมรุนแรงยิ่งขึ้น ถึงเวลาต้องเปลี่ยนการบริหารจัดการจาก “รัฐรวมศูนย์อำนาจนิยม เป็นชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง” ในการเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการที่ดิน ป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติใหม่ ส่วนตัวเห็นว่า ควรยึดแนวตามปฏิญาณสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของเกษตรกรและบุคคลอื่นที่ทำงานในเขตชนบท (UNDROP) ที่มีบัญญัติไว้จำนวน 28 มาตรา ให้ความสำคัญคุณค่าของคนที่มีถิ่นกำเนิด เกษตรกร และคนทำงานในชนบทขั้นพื้นฐานในเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน สิทธิทางชาติพันธุ์ สิทธิการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น กระบวนการยุติธรรม มีส่วนร่วมใช้อำนาจของหน่วยงานรัฐจัดการที่ดินป่าไม้ หรือการพัฒนาเป็นแนวนโยบายและการปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จในนานาประเทศ ที่ประชาชนได้สิทธิที่จะเข้าถึง ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และร่วมบริหารจัดการ ที่ดิน แหล่งน้ำ ทะเลชายฝั่ง แหล่งประมง ทุ่งหญ้า และป่าไม้ที่อยู่ในที่ดินนั้น เพื่อมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอ เพื่อมีสถานที่อาศัยที่มีความมั่นคง มีความสงบสุข และมีศักดิ์ศรี และเพื่อพัฒนาวัฒนธรรมของตน"