นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ได้ติดตามการพัฒนาธุรกิจการค้าตามนโยบายนั้น จากรายงานกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เกี่ยวกับการจดทะเบียนธุรกิจประจำเดือนมกราคม 2564 จำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่มีผู้ประกอบการธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศในเดือนมกราคม 2564 จำนวน 7,283 ราย โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 30,930 ล้านบาท ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรกคือ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไปจำนวน 634 รายคิดเป็น 9% รองลงมาคือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จำนวน 299 รายคิดเป็น 4% และอันดับ 3 คือธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้าจำนวน 192 รายคิดเป็น 3% ตามลำดับ
ส่วนธุรกิจเลิกประกอบกิจการเดือนมกราคม 2564 นั้นมี 1,105 รายโดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 7,910 ล้านบาทซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ถือว่าการจดทะเบียนประกอบธุรกิจใหม่มีสัดส่วนที่มากกว่าอยู่มาก โดยในส่วนธุรกิจที่เลิกส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป รองลงมาคืออสังหาริมทรัพย์และธุรกิจด้านภัตตาคารร้านอาหาร โดยธุรกิจเลิกประกอบกิจการนั้นแบ่งตามช่วงทุนมากที่สุดคือทุนไม่เกิน 1 ล้านบาทจำนวน 69% รองลงมาคือช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาทจำนวน 26% และช่วงทุน 5-100 ล้านบาทจำนวน 3.7% ส่วนช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาทมีจำนวน 0.5% ตามลำดับ
สำหรับธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ ณ ข้อมูลเดือนมกราคม 2564 จำนวน 775,253 ราย มูลค่าทุน 19.22 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลจำนวนคิดเป็น 24% และบริษัทจำกัด 75.5% และบริษัทมหาชนจำกัดจำนวน 0.17% ตามลำดับ อย่างไรก็ตามแนวโน้มธุรกิจจากสถานการณ์โควิดส่งผลให้ผู้ใช้บริการเปลี่ยนพฤติกรรมมาทำธุรกรรมและกิจกรรมผ่านระบบออนไลน์มากยิ่งขึ้นรวมถึงแนวโน้มในการบังคับใช้พระราชบัญญัติข้อมูลส่วนบุคคลพ.ศ. 2562 ทั้งฉบับดังนั้นในปี 2564 ธุรกิจต่างๆจึงต้องจัดการระบบเพื่อรองรับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของผู้ใช้บริการ และต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าและป้องกันการคุกคามทางคอมพิวเตอร์ดังนั้นธุรกิจบริหารจัดการโครงสร้างและระบบคอมพิวเตอร์จึงมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
"ดูจากการจัดตั้งและมูลค่าทุนจดทะเบียนของธุรกิจบริหารจัดการโครงสร้างและระบบคอมพิวเตอร์จะพบว่ามีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 4 ปีคือ 2559 ถึง 2562 แม้ว่าในปี 2563 จะมีการจดตั้งลดลง 11% และมีมูลค่าทุนจดทะเบียนลดลง 17% เมื่อเทียบกับปี2562 แต่ในส่วนของผลประกอบการนั้นจะเห็นว่าธุรกิจเติบโต เพิ่มขึ้นอย่างมากจากปี 2561 ถึง 40% และธุรกิจมีผลกำไรในปี 2562 เพิ่มขึ้นจากปี 2561 คิดเป็น 3.7% และมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 3% ซึ่งเมื่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้ารายงานจากนิติบุคคลที่ส่งงบการเงินจะพบว่าส่วนใหญ่เป็นนิติบุคคลขนาดเล็กถึง 99% จึงถือเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการในการเข้าสู่ตลาดธุรกิจบริหารจัดการโครงสร้างและระบบคอมพิวเตอร์ ดังนั้นการที่หลายฝ่ายสะท้อนความคิดเห็นว่าควรจะได้มีการส่งเสริมสนับสนุนแหล่งเงินทุนเพื่อกิจการนั้นเป็นเรื่องที่ดีทั้งนี้เพื่อนำสู่ธุรกิจและขยายธุรกิจด้านนี้"
ขณะเดียวกันรัฐบาลมุ่งเน้นสนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น ดำเนินโครงการที่ใช้ดิจิทัลเป็นส่วนประกอบสำคัญเพื่อให้ถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างเฉพาะเจาะจงรวมถึงการดำเนินธุรกิจ ธุรกรรมออนไลน์ ทั้งการยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ National Dgital ID และการใช้ Blockchain ซึ่งการที่รัฐบาลมุ่งเน้นนโยบายด้านนี้ย่อมทำให้เกิดการเติบโตธุรกิจด้านนี้ โอกาสอันดีในการเข้าสู่ธุรกิจนี้แต่ก็ต้องคำนึงถึงการลงทุนอย่างต่อเนื่องและอุปกรณ์เทคโนโลยีพัฒนารวดเร็วตีองบริหารจัดการให้ทันและธุรกิจมีความต้องการบุคลากรที่มีทักษะทางด้านคอมพิวเตอร์ก็จะส่งผลต่ออัตราการจ้างงานและการรักษาบุคลากรให้กับองค์กร เป็นต้น