เมื่อวันที่ 12 มี.ค.นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยว่า แม้ศาลจะชี้ว่ารัฐสภาสามารถยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้มีเพียงแค่การตั้ง ส.ส.ร. ยังมีวิธีการอื่น ดังนั้นเมื่อจะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ศาลก็ระบุชัดเจนว่าการจะต้องทำประชามติก่อน แล้วค่อยมากำหนดว่าจะใช้วิธีการ ตั้ง ส.ส.ร หรือ ตั้งกรรมาธิการยกร่าง ดังนั้นกระบวนการที่ทำอยู่ขณะนี้ ทั้งการพิจารณาวาระที่ 1-2 เป็นกระบวนการที่ทำไปก่อนล่วงหน้า ส่วนตัวมองว่าจะทำให้มีปัญหา เพราะกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญตอนนี้ ถือเป็นกระบวนการเดียวกัน แต่หากมีผู้ตีความต่างกัน ตนก็เคารพ
นายสมชาย กล่าวว่าดังนั้นการประชุมรัฐสภา เพื่อลงมติในวาระที่ 3 ในวันที่ 17 มี.ค.นี้ ที่ประชุมจะต้องหารือถึงคำวินิจฉัยของศาลกันก่อนว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร เพราะคำวินิจฉัยผูกพันรัฐสภา หากจะเดินหน้าต่อไปก็ต้องกลับไปทำประชามติก่อน และถ้าหากทำประชามติรวบไปพร้อมกันหลังการลงมติวาระ3 ก็จะมีปัญหา เพราะสิ่งที่ดำเนินการมามีเนื้อหาที่เกินอำนาจจากที่ศาลวินิจฉัย คือมีการเขียนเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไว้แล้ว รวมถึงกระบวนการตั้ง ส.ส.ร. ทั้งที่ไม่ทำประชามติถามประชาชนก่อน ถือเป็นการสอดไส้
นายสมชาย กล่าวอีกว่า ส่วนตัวจึงขอตีความว่าไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับที่ประชุมรัฐสภาจะวินิจฉัย แต่เมื่อมีข้อกังขาหากยังเดินหน้าไปถึงวาระ 3 ในส่วนของ ส.ว. ก็ต้องหารือกัน ก่อนตัดสินใจว่าจะเดินหน้าร่วมลงมติหรือไม่ เพราะการลงมติมีผลผูกพันหากเดินหน้าต่อไปทั้งๆที่รู้ว่าผิด ก็อย่า ในยุคนี้ไม่ได้มีการถอดถอนแบบในอดีต แต่จะถูกดำเนินคดีในศาลฎีกานักการเมือง ด้วย
ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ในวันที่ 15 มี.ค.ประธานวุฒิสภาได้เรียก วิปวุฒิสภาหารือกันถึงปัญหาข้อกฎหมายที่เกิดขึ้นว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร และมองว่าความเห็นที่ต่างกันขณะนี้เป็นเพราะยังไม่มีใครเห็นคำวินิจฉัยกลาง ดังนั้นต้องพิจารณาจากคำวินิจฉัยกลางก่อน ว่ามีรายละเอียดอย่างไร