คณะเทคโนโลยีการเกษตร จับมือคณะวิทยาศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา ฝึกอบรมเทคนิคชงและสกัดกาแฟ เตรียมนำความรู้ถ่ายทอดต่อให้เกษตรกร ตั้งเป้าพัฒนากาแฟโรบัสต้าเป็นสินค้าเชิงอัตลักษณ์ อ.คลองหอยโข่ง เมื่อเร็วๆ นี้คณาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) นำโดย ผศ.ดร.อมรรัตน์ ชุมทอง ผศ.ดร.ทวีสิน นาวารัตน์ ผศ.ดร.คริษฐ์สพล หนูพรหม ดร.กมลทิพย์ นิคมรัตน์ อาจารย์ปริยากร สุจิตพันธ์ ดร.ศุภัครชา อภิรติกร ดร.ธีรยุทธ์ ศรียาเทพ และนักศึกษาสาขาวิชาการผลิตและการจัดการผลิตภัณฑ์อาหาร เข้าร่วมอบรมในโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเทคนิคการชงและการสกัดกาแฟ (Brewing coffee) เบื้องต้น ภายใต้โครงการ การเพิ่มศักยภาพการผลิตกาแฟโรบัสต้าเชิงอัตลักษณ์ เพื่อพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้สู่เกษตรกร ซึ่งมีการบรรยายการจำแนกกลิ่นและรสชาติของกาแฟ วิธีการประเมินคุณภาพเมล็ดคั่วกาแฟ โดย ผศ.ดร.ระวี เจียรวิภา วิทยากรจากคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โอกาสเดียวกันนี้ คณะผู้เข้าอบรมได้ร่วมพูดคุยเกี่ยวกับปรับตัวของเกษตรกรในการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้มีคุณภาพ เพื่อไม่ให้มีการปนเปื้อนของผลเน่า ผลเป็นรา ผลดิบ หรือผลเสีย โดยแนะนำให้เกษตรกรปลิดเป็นผล ในการคัดเลือกเบื้องต้นจากแปลงปลูก ซึ่งการวิจัยเริ่มตั้งแต่กระบวนการคัดเมล็ด การเจริญเติบโต การเก็บเกี่ยว กระบวนการผลิตหลังการเก็บเกี่ยว การจำแนกสายพันธุ์และการปรับตัวของกาแฟสายพันธุ์ไทยที่นำมาปลูกแซมยางพาราร่วมกัน ซึ่งต้องผ่านการฝึกคัดเมล็ดและการคั่วเพื่อให้ได้องค์ประกอบของสารในตัวกาแฟ ซึ่งมีมากมายครบถ้วนตามต้องการ นอกจากนั้น วิทยากรยังได้แนะนำการรับรู้จากการดม การชิม แยกกลิ่นรสอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันของกาแฟในแต่ละพื้นที่ปลูก โดยรสชาติกลิ่นสีที่แตกต่างกันของกาแฟเกี่ยวพันกับสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกัน ความสูงจากระดับน้ำทะเล ปริมาณน้ำฝนและการกระจายตัวของฝน และสภาพพื้นที่ปลูก รวมทั้งวิธีการคั่วด้วย อีกสิ่งที่น่าสนใจ คือศาสตร์ในการประเมินกลิ่นรส (Flavor) โดยใช้ Coffee Taster’s Flavor Wheel มีการฝึกการประเมินรสชาติโดยการดม (Aroma) และการชิม (Taste) และการชงสารสกัดกาแฟ หรือที่เรียกันว่า อโรม่า เทส ซึ่งคณาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตรและคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา จะนำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปพัฒนาความรู้ให้แก่เกษตรกร อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา ในการสร้างแบรนด์กาแฟโรบัสต้าที่มีอยู่ในพื้นที่ให้เป็นอัตลักษณ์ของ อ.คลองหอยโข่ง เกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจารย์คณาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เกษตรกรใน อ.คลองหอยโข่ง เริ่มหันมาปลูกกาแฟแซมยางพาราเพิ่มมากขึ้น โดยที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่มักเก็บกาแฟแบบรูดเก็บ ทำให้เมล็ดพันธุ์มีการปะปนกันระหว่างผลดิบ ผลสุข และผลเน่า ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพในการผลิตกาแฟ ต่อมาหลังจากที่คณะเทคโนโลยีการเกษตรและคณะวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกันลงพื้นที่ จึงได้ให้คำแนะนำและความรู้เกี่ยวกับกระบวนการเก็บเกี่ยว เพื่อให้เกษตรกรได้เมล็ดกาแฟสำหรับเข้าสู่กระบวนการผลิตที่มีคุณภาพต่อไป