หนึ่งในรายได้ประเทศที่นอกเหนือจากการท่องเที่ยว ก็มาจากภาคส่งออก ซึ่งต้องยอมรับว่าในช่วงการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลต่อรายได้ของประเทศเป็นอย่างมาก เพราะดูทุกอย่างจะหยุดชะงัก นักท่องเที่ยวไม่มีเข้าประเทศ สินค้าขายไม่ได้ ทำให้ต้องกลับมาพึงพาตนเองในประเทศให้มากที่สุด แต่จากเมื่อมีการผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ได้ ก็ทำให้ทุกอย่างดูดีขึ้น เศรษฐกิจเริ่มขยับตัว การนำเข้า – ส่งออก เริ่มที่ทิศทางที่สดใสขึ้น ทั้งนี้ “นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์” ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สรท. ยังคงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโตระหว่าง 3% ถึง 4% โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญในปี 2564 คือ การ กลับมาขยายตัวของสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าขั้นกลาง อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติก ตามทิศทางการฟื้นตัว เศรษฐกิจโลกก่อนกระทบการระบาดครั้งใหม่ อีกทั้งการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหาร (ผักผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป) สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับ work from home จากอานิสงค์ความไม่แน่นอนของการระบาดโควิด-19 ในประเทศคู่ค้า ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2564 ได้แก่ 1.การระบาดโควิด-19 ในประเทศคู่ค้าและภายในประเทศที่ยังมีสถานการณ์รุนแรง ดังจะเห็นได้จากการขยายประกาศใช้มาตรการล็อคดาวน์ใน หลายประเทศและการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศคู่ค้าหลายประเทศ อาทิ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เดนมาร์ก ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ช้าลง การจ้างงานของประชาชน และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง 2.ปัญหา International Logistics ได้แก่ ตู้สินค้าขาดแคลน และระวางเรือไม่เพียงพอ จากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 รอบ 2 ในหลายประเทศ ทำให้มีปริมาณตู้สินค้า ตกค้างที่ท่าเรือปลายทางโดยเฉพาะในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ประ เทศไทยยังคงประสบปัญหาขาดแคลนตู้สินค้า ,อัตราค่าระวางปรับเพิ่มขึ้น อัตราค่า ระวางเรือที่ส่งออกจากประเทศไทยไปยังแต่ละเส้นทางได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อ เนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยในเส้นทางยุโรป เดือนธันวาคม 2563 ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 160-220% ในขณะที่เส้นทางภายในเอเชีย เพิ่มขึ้น 17-100% ส่วนเส้นทางออสเตรเลีย ปรับเพิ่มขึ้น 112-197% และเส้นทางสหรัฐอเมริกา ปรับเพิ่มขึ้น 73-196% ซึ่งจากผลของการปรับขึ้นค่าระวางเรือในหลายเส้นทาง โดยเฉพาะ EU ทำให้ลูกค้าบางรายเริ่มมีการชะลอคำสั่งซื้อออกไป 2-3 เดือน เนื่องจากไม่สามารถยอมรับต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้นเป็นหลายเท่าตัวได้ ทำให้ผู้ส่งออกไทยสูญเสียโอกาสทางการค้า ทั้งนี้สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ดังนี้ 1. มาตรการเร่งด่วน ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเร่งรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท ไม่ให้แข็งค่าไปกว่าคู่แข่งที่สำคัญ เพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติม ผู้ประกอบการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และเร่งแก้ไขปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน โดย เร่งรัดการนำเอาตู้สินค้าที่อยู่ในอายัดของกรมศุลกากรกลับมาใช้ประโยชน์ ขอให้ภาครัฐลดค่าภาระท่าเรือเพื่อจูงใจให้มีการนำเข้าตู้เปล่า เข้ามายังประเทศไทย ,ขอให้ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือ/อุดหนุนผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้าทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม กรณีที่ไม่สามารถส่งออกและนำเข้าได้จาก ปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้า เพื่อเสริมสภาพคล่องแก่ ผู้ประกอบการ และสามารถจ่ายค่าระวางได้มากขึ้น อำนวยความสะดวกให้เรือใหญ่ที่มีขนาด 400 เมตรเข้าเทียบท่า แหลมฉบังเป็นการถาวร เพื่อให้นำเข้าตู้เปล่ามากขึ้น และ ตรวจสอบปริมาณตู้เปล่าในประเทศไทย ซึ่งจัดเก็บในลานกองตู้ เพื่อหมุนเวียนใช้งานให้รวดเร็วมากขึ้น 2. มาตรการระยะยาว สถานการณ์โควิดรอบใหม่ รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนแรงงานที่ว่างงานเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของการลด กำลังการผลิตและยังไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ 3.เร่งรัดการพัฒนาไปประเทศไปสู่ Digital economy เช่น เร่งรัดและส่งเสริมการพัฒนาโครงการ National Digital Trade Platform (NDTP), การพัฒนา National Single Window (NSW) ให้เป็น Single submission หรือ ระบบกลางการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว, การพัฒนาระบบ Port Community System (PCS) เป็นต้น เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสมบูรณ์ สอดรับกับวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งเพื่อปรับลดขั้นตอนในการติดต่อกับทางราชการ เช่น การออกใบรับรอง/ใบอนุญาต ให้ใช้ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ให้ได้มากที่สุด เพื่อรักษาระยะห่างทางสังคมระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนที่รับบริการ 4.ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่การใช้เทคโนโลยี เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการวางแผนธุรกิจและการลงทุนในรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นกับคนทุกกลุ่มวัย รูปแบบการค้า การผลิต การขาย การบริการ ลงทุน จะเปลี่ยนไปตามบริบทที่เรียกว่า New normal ด้าน “ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย” โดย “ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การฟื้นตัวภาคการส่งออกของไทยทยอยปรับตัวดีขึ้น โดยในช่วง 2 เดือนแรก (ธ.ค.63-ม.ค.64) จะพบว่ามีมูลค่าอัตราการเติบโตอยู่ที่ 5% (ไม่รวมทองคำ) เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สะท้อนถึงการฟื้นตัวที่ปรับดีขึ้น ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศเริ่มคลี่คลาย ทำให้มีความต้องการสินค้ากลับมารวดเร็ว จึงเป็นแรงสนับสนุนภาคการส่งออก อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้าการเติบโตภาคการส่งออกของแต่ละประเทศมีจุดอ่อน-จุดแข็งแตกต่างกัน เช่น ประเทศไทย จะเห็นสินค้ากลุ่มสุขภาพและถุงมือยางมีการเติบโตโดดเด่น รวมถึงสินค้า Medical Textile ที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นถึง 5% ต่อปี และการเติบโตจะขยายตัวได้มากขึ้น เมื่อเทียบกับสินค้าประเภทสิ่งทอทั่วไปที่มีอัตราการเติบโต 2% ต่อปี และจะเห็นว่าบริษัทหน้าใหม่ขยายตัวเข้ามาในตลาดนี้มากขึ้นสอดคล้องกับความต้องการที่มีเพิ่มขึ้น “ตอนนี้โควิดในต่างประเทศเริ่มคลี่คลาย จะทำให้ดีมานด์ความต้องการสินค้ามีมากขึ้น และไทยเป็นประเทศที่พึงพาการส่งออกจะได้รับอานิสงส์การเติบโต โดยจะเห็นการเติบโตภาคการส่งออกได้มากกว่านี้ เพราะตอนนี้เราเจอปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ด้วย แต่ทั้งปีมองว่าการส่งออกจะเติบได้ 4% เพราะตอนนี้ทุกประเทศทยอยฟื้นตัว” การส่งออกไทย.....แม้เวลานี้ทุกคนเชื่อว่ามีทิศทางที่ดีขึ้น! แต่ก็อย่าชะล่าใจ! เพราะยังมีปัจจัยที่มองไม่เห็นรออยู่!!! โดยเฉพาะการระบาดไวรัสโควิด-19 ที่แม้จะดูดีขึ้น ถึงเวลาที่ทุกคนต้องช่วยกัน