ลานบ้านกลางเมือง : เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมสมัยสามัญขององค์การสหประชาชาติได้ประกาศรับรองวาระปีสากลแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2021 โดยองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศวาระสำคัญนี้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส มีวัตถุประสงค์เพื่อเชิญชวนรัฐบาลทั่วโลกสนับสนุนการใช้ศิลปวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมเสนอกับประเทศในเอเชียแปซิฟิกอื่นๆ 6 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย อินโดนีเซีย มองโกเลีย และฟิลิปปินส์ อีกทั้งประเทศไทยได้ให้ความสำคัญและเป็นหนึ่งในประเทศในเอเชียที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในการดำเนินการขับเคลื่อนสนับสนุนอุตสาหกรรมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ใน 3 ด้าน ได้แก่ 1.การสร้างความสามารถในการแข่งขัน 2.การพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ และ 3.การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม รวมทั้งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy (BCG) เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว ในยุทธศาสตร์ที่ 4 การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ด้าน นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ในฐานะหน่วยงานต้นน้ำของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ทำหน้าที่เก็บรวบรวมรักษาองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรม ภูมิปัญญาพื้นบ้านต่างๆ ส่งเสริมอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม อันเป็นมรดกและทรัพย์สินทางปัญญาอันล้ำค่า ขณะเดียวกันได้สร้างต้นแบบในการต่อยอดพัฒนาภูมิปัญญาและทุนทางวัฒนธรรมด้านต่างๆ สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่น แฟชั่นการออกแบบ ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ อาหารไทย ดนตรี ศิลปะการแสดง งานศิลปหัตถกรรม เป็นต้น ซึ่งในวาระปีสากลแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2564 วธ.จะดำเนินการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการนำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ช่วยสร้างรายได้แก่ชุมชนและประเทศ เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ปัจจุบันหน่วยงานในสังกัดวธ. ล้วนมีภารกิจที่เกี่ยวข้องกับงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สามารถเชื่อมโยงการทำงานกับพื้นที่ทุกจังหวัด ผ่านกลไกระดับชุมชน ได้แก่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด สำนักศิลปากรพื้นที่ ตลอดจนจัดกิจกรรมโครงการต่างๆ ด้านศิลปวัฒนธรรมระดับท้องถิ่นและระดับชาติ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาโดยการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น และสร้างเครือข่ายทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็งทั่วประเทศ เช่น โครงการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย(CPOT) การท่องเที่ยวชุมชนสร้างสรรค์ของโครงการพัฒนาต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมตามรอยศาสตร์พระราชา (บวร On Tour) โครงการเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ เป็นต้น “นอกจากนี้ วธ.ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทั้ง ดำเนินการเชื่อมโยงประสานงานเครือข่ายการเจรจาระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนานาอารยะประเทศ เป็นการส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายทางวัฒนธรรมระดับสากล และสร้างภาพลักษณ์เกียรติภูมิไทยในเวทีโลกด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์” นายอิทธิพล รมว.วัฒนธรรม กล่าว นำทุนวัฒนธรรมต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน