เมื่อวันที่ 11 มี.ค.นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้ความเห็นต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต่อหน้าที่รัฐสภาที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่ต้องผ่านการทำประชามติถามประชาชนก่อน โดยเชื่อว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านวาระหนึ่ง วาระสอง และเตรียมเข้าสู่วาระสามของรัฐสภานั้น เป็นกระบวนการทำที่ไม่ชอบ และใช้ไม่ได้ เพราะไม่เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และถือว่าเป็นการกระทำที่เกินไปกว่าคำวินิจฉัยที่ระบุว่าต้องถามความประสงค์ของประชาชนว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ อย่างไรก็ดีตนเชื่อด้วยว่าการลงมติวาระสาม ในวันที่ 17 มีนาคม นี้ ไม่สามารถเดินหน้าได้ สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยังมีทางที่ทำได้ คือ แก้ไขรายมาตรา แต่การแก้ไขแบบรายมาตรานั้น เชื่อว่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะต้องใช้ความเห็นพ้องร่วมกันทั้ง 4 ฝ่าย คือ คณะรัฐมนตรี (ครม.), ฝ่ายค้าน,ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ว. เนื่องจากเชื่อว่าบางประเด็นที่พรรคการเมืองบางพรรคได้ประโยชน์ เช่น บัตรเลือกตั้งใบเดียว คงไม่ยอม
นายวันชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับการทำประชามติ ในร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการทำประชามติที่รอเข้าที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 17 มีนาคม นี้ กำหนดให้ ครม. เป็นผู้ดำเนินการตั้งคำถาม ว่าจะเห็นด้วยกับการแก้ไขหรือไม่ และตนเชื่อว่าจะมีเพียงคำถามเดียว ไม่สามารถพ่วงประเด็น เช่น นำเนื้อหาที่แก้รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ผ่านวาระสองของรัฐสภา ที่ให้มี สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ได้ เพราะเนื้อหาดังกล่าวคือการแก้ไขแล้ว สำหรับการทำประชามติ เชื่อว่าจะมีประมาณ 3 ครั้ง คือ ก่อนแก้ไข, หลังการแก้ไข และหลังจากมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะใช้งบประมาณ เกือบ 10,000 ล้านบาท ดังนั้นในขณะนี้ผมตอบได้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามคำวินิจฉัยของศาลยากที่จะเกิดขึ้น
โฆษก กมธ.ร่างพ.ร.บ.ประชามติ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ประชามติ จะเข้ารัฐสภาเพื่อพิจารณาวาระสองและวาระสาม ในวันที่ 17 - 18 มีนาคมนี้ และสามารถเดินหน้าได้ แม้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสะดุด เพราะเนื้อหาของร่างกฎหมายประชามตินั้น ไม่มีเพียงการแก้รัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ ครม. ขอความเห็นด้วย.