ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
ความฝันแบบ “ศักดินาไทย” ยังเป็นลมหายใจของคนหลายคน
นรินทร์สืบเชื้อสายมาจากตระกูลขุนนางใหญ่ แม่ของเขาเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นหม่อมหลวง เขาได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี มีประสบการณ์การทำงานหลายที่ แต่ถ้าใครที่รู้ความจริงจะพบว่า เขาทำงานที่ไหนไม่ค่อยประสบความสำเร็จ จึงต้องเปลี่ยนงานไปเรื่อย ซึ่งบ่อยครั้งเป็นเพราะครอบครัวเป็นคนจัดการให้ ถ้าเป็นคำพูดในสมัยนี้ก็ต้องบอกว่าเขา “ยังค้นหาตัวเองไม่พบ” แต่ถ้าไปถามตัวเขาก็จะได้คำตอบว่า “คนมากความสามารถอย่างผม อยากจะทำอะไรก็ทำได้”
ผมรู้จักนรินทร์ตอนที่ผมมาเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ส่วนนรินทร์มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติอีกท่านหนึ่ง ที่ท่านเป็นประธานกรรมาธิการคณะหนึ่งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนั้น โดยผมทำหน้าที่เป็นเลขานุการของคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว เราจึงต้องพบปะกันเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ทั้งในการประชุมคณะกรรมาธิการและการประชุมรัฐสภาที่มีการประชุมในแต่ละสัปดาห์นั้น ดูเหมือนว่านรินทร์จะไม่เคยขาดประชุมเลย และมักจะติดตามท่านประธานกรรมาธิการไปในสถานที่ต่าง ๆ ทุกครั้ง เหมือนว่าจะเป็นคนขยันขันแข็งอย่างมาก แต่ก็ไม่เคยเห็นเขาเสนอความคิดเห็นอะไรในการประชุม หรือช่วยเหลืออะไรมากนักเวลาไปในสถานที่ต่าง ๆ ถ้าใครจะสังเกตมองดูเขาอยู่เป็นประจำก็จะเห็นว่า เขาจะนั่งยิ้มเหมือนว่ามีความสุขมาก ๆ แม้แต่ในการประชุมที่เคร่งเครียด หรือเวลาที่ไปราชการในต่างจังหวัด ก็จะเห็นเขาเดินคุยกับผู้คนเหมือนกับนักการเมืองกำลังออกเดินหาเสียงกระนั้น รวมถึงที่เขาจะชอบพูดคุยถึงเรื่องของ “คนโน้นคนนี้” โดยเฉพาะคนใหญ่ ๆ โต ๆ คนในรั้วในวัง และคนที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ คล้ายกับว่าเขามีความสนิทสนมหรือรู้จักคนเหล่านั้นเป็นอย่างดี ตรงกันข้ามกับเรื่องราวส่วนตัวของเขาเอง ทั้งชีวิตครอบครัวและเรื่องของญาติพี่น้อง ที่ดูเหมือนเขาระมัดระวังที่จะพูดถึง จนถึงขั้นเงียบไปเสมอเมื่อมีใครซักไซ้ในเรื่องส่วนตัวดังกล่าว
ผมต้องคอยประสานงานกับนรินทร์อยู่เป็นประจำ แม้ว่าท่านประธานกรรมาธิการจะมีเลขานุการส่วนตัวอีกคนหนึ่ง แต่ดูเหมือนว่านรินทร์จะเป็นเจ้ากี้เจ้าการเข้ามาช่วยดูแลในทุกเรื่อง ตั้งแต่แจ้งเรื่องนัดหมายไปจนถึงการจดการเอกสารและข้อมูลต่าง ๆ แม้กระทั่งเวลาที่ไปราชการต่างจังหวัด ก็จะเป็นคนที่สอบถามรายละเอียดจากเจ้าหน้าที่เรื่องการเดินทางและการอยู่การกินอย่างละเอียด จนเจ้าหน้าที่แอบนินทาว่า นี่ถ้าใครได้ไปเป็นเมียก็คงจะมีความสุขมาก ๆ ที่มีคนมาเอาใจใส่ดูแลถึงขนาดนั้น ซึ่งนรินทร์ก็คงจะเคยได้ยินอยู่เหมือนกัน เพราะบางครั้งเขาก็พูดกลับไปยังเจ้าหน้าที่อย่างอารมณ์ดีอันเป็นบุคลิกประจำตัวของเขานั้นว่า “หมั่นเอาใจผู้คนเอาไว้ ลูกผัวจะได้ไม่เบื่อ”
ที่สภาจะมีธรรมเนียมอย่างหนึ่ง คือการเรียกทุก ๆ คนที่ทำหน้าที่ในตำแหน่งต่าง ๆ ว่า “ท่าน” แม้แต่ที่ปรึกษาและเลขานุการส่วนตัวของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำนองว่าเป็นการให้เกียรติ “อย่างสูง” แก่บรรดาบุคคลเหล่านั้น แต่ในความรู้สึกของผมฟังดูค่อนข้างจะเป็น “ศักดินา” มากไปหน่อย ทว่าสำหรับนรินทร์แล้วดูเหมือนเขาจะมีความภาคภูมิใจและมีความสุขมากกับการที่ถูกเรียกด้วยคำนำหน้าชื่ออย่างนั้น ถึงขั้นที่ว่าถ้าไม่มีคำว่า “ท่าน” ขึ้นต้น เขาก็จะไม่หันมาพูดด้วยเลย อย่างกับว่าคำว่า “ท่าน” นี้คือสวิตช์ปิดเปิดการเคลื่อนไหวของเขา และทำให้เขามีชีวิตอยู่ได้ต่อไปอย่างมีชีวิตชีวา
เลขานุการของท่านประธานคณะกรรมาธิการแอบมานินทานรินทร์ให้ผมฟังว่า นรินทร์ถูกเลี้ยงมาอย่างตามใจ อยากได้อะไรก็ต้องได้ ที่บ้านต้องจัดหามาให้อย่างไม่เคยขัดข้อง เขาจบชั้นมัธยมจากโรงเรียนชายชื่อดัง โดยพ่อแม่หวังจะให้เขามีคอนเน็กชั่นที่ดีโดยการเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐที่มีชื่อเสียงต่อไป แต่เขาสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ เขาต้องไปเรียนที่มหาวิทยาลัยแถวหัวหมากอยู่ระยะหนึ่ง จนกระทั่งทางบ้านได้ส่งไปเรียนที่มหาวิทยาลัยที่เทกซัส สหรัฐอเมริกา แต่เดิมทางบ้านสมัครให้เรียนด้านบริหารธุรกิจ แต่ดูเหมือนจะไม่ถูกอัธยาศัย แปลง่าย ๆ ว่า “เรียนไม่ได้” เลยไปเรียนด้านวารสารศาสตร์ เรียนอยู่หลายปีกว่าจะจบ จนพ่อแม่นึกว่าจะต้องกลายเป็นโรบินฮู้ดเสียแล้ว กลับมาเมืองไทยก็อายุเกือบ 30 ปี พ่อแม่ฝากงานให้ทำหลายที่ ระหว่างนั้นก็พยายามเคี่ยวเข็ญให้เขาสอบเข้ารับราชการ แต่ก็ไม่เคยสำเร็จ จนพ่อและแม่เสียชีวิต เขาก็มีกินมีใช้ด้วยเงินมรดก ดีที่เขาได้ภรรยาเป็นนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ในตอนที่เขาเอาที่ดินแห่งหนึ่งของพ่อแม่ไปฝากขาย แล้วก็ตกหลุมรักกัน เลขานุการท่านประธานคณะกรรมาธิการวิเคราะห์ว่า “ท่านนรินทร์” คงจะมีมรดกมาก ทำให้นายหน้าสาวคิดจะรวบรัดเอามาไว้เป็น “ถังข้าวสาร” แล้วก็ประสบความสำเร็จ แต่ก็เป็นโชคดีของท่านนรินทร์นั้นเอง ที่ภรรยารู้จักหมุนเวียนเพิ่มมูลค่าทรัพย์สิน ที่บางส่วนถ้าเป็นทำเลดี ๆ ก็จะเก็บไว้ให้เช่า ทั้งระยะสั้นระยะยาว แต่ถ้าทำเลไม่ดีก็จะไปพัฒนาแล้วแบ่งขายให้ได้ราคาสูงขึ้น รวมถึงซื้ออสังหามือสองมาปรับปรุงและตกแต่งใหม่ ให้ชาวต่างชาติมาเช่า หรือถ้าชาวต่างชาตินั้นมีเมียไทยก็ยุเมียไทยนั้นให้อ้อนสามีฝรั่งซื้อมาเป็นสมบัติไว้ในแผ่นดินไทยเสีย ธุรกิจนี้สามารถทำกำไรไว้มาก โดยท่านนรินทร์มีส่วนช่วยบ้างนิดหน่อย เช่น พาชาวต่างชาติไปเอ็นเทอร์เทน และเป็นล่ามในการพูดคุยธุรกิจเป็นต้น
ท่านนรินทร์ไปรู้จักกับท่านประธานกรรมาธิการตอนที่ท่านประธานกรรมาธิการเป็นทูตอยู่ในยุโรป โดยเลขานุการที่ทำงานกับท่านประธานกรรมาธิการตั้งแต่ที่ในสถานเอกอัครราชทูตอยู่ประเทศนั้นบอกว่า ทั้งสองคนถูกอัธยาศัยกันมาก เนื่องจากมีรสนิยมในการกินดื่มและเที่ยวเหมือน ๆ กัน อีกทั้งยังมีอายุใกล้เคียงกัน จึงคบหากันมาอย่างสนิทสนมประหนึ่งเป็นเพื่อนสนิทหรือญาติที่ใกล้ชิดกันนั่นเลยเชียว ซึ่งดูเหมือนว่าท่านนรินทร์จะไล่เลียงลำดับญาติให้ท่านทูตฟัง แล้วก็ปรากฏว่าเป็น “ญาติตระกูลใกล้” ที่เคยมีความสัมพันธ์มาอย่างแนบแน่นตั้งแต่ต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จากนั้นก็ติดสอยห้อยตามท่านทูตมาเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมาธิการ ที่มีเงินเดือนประจำ แต่เงินเดือนนั้นท่านนรินทร์ไม่รับ โดยให้เบิกจ่ายเข้าบัญชีของท่านประธานคณะกรรมาธิการ เหมือน ๆ กันกับบรรดาผู้ช่วยดำเนินงานสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติอีก 3 คน ที่ต้องมอบอำนาจให้ท่านประธานคณะกรรมาธิการเป็นผู้เบิกจ่ายเงินจำนวนนั้นไปทั้งหมด
ท่านทูตกับท่านนรินทร์พูดเหมือนกันว่าที่ได้มาอยู่ในสภานี้ ก็เหมือนได้มาอยู่ที่ “ศาลาพักใจ”