เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 11 มี.ค.64 ที่ห้องสุรนารีเอ โรงแรม ดิอิมพี่เรียลโฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โคราช อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายวิสูตร ชัชวาลวงศ์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา พร้อมนายวิทยา เรืองฤทธิ์ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการผังเมือง โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา และนายธนิชา นิยมวัน ผู้จัดการโครงการศึกษาแผนแม่บทเมืองใหม่นครราชสีมา ร่วมจัดการประชุมรับฟัง "ระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 1" ในโครงการศึกษาแผนแม่บทเมืองใหม่นครราชสีมา เนื่องจากกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย คณะทำงานกรมโยธาธิการและผังเมืองและบริษัทที่ปรึกษาโครงการ นำโดย บริษัท แพลนเนอร์ 26 จำกัด โดยมีผู้แทนหน่วยงานระดับภูมิภาค ระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่น ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมรับฟังอย่างคึกคัก นายวิสูตร ปลัดจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า โครงการศึกษาแผนแม่บทเมืองใหม่นครราชสีมา มีเป้าหมายศึกษาและวางแผนพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นเมืองใหม่ สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้เต็มตามศักยภาพ นำเอาแนวทางการพัฒนาตามแผนแม่บทดังกล่าวมาปรับปรุงข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินของผังเมืองรวมที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาให้มีความเหมาะสม ด้วยความร่วมมือกันกับผู้เชี่ยวชาญหลากหลายศาสตร์ โดยเฉพาะความคิดเห็นของประชาชนในการประชุมครั้งนี้มีความสำคัญอย่างมากในการนำไปพิจารณาควบคู่กับทางวิชาการเพื่อคัดเลือกพื้นที่พัฒนาเมืองใหม่ต่อไป เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ นายธนิชา ผู้จัดการโครงการศึกษาแผนแม่บทเมืองใหม่นครราชสีมา เปิดเผยว่า ผลการศึกษารวบรวมข้อมูลในด้านต่าง ๆ รวมทั้งนำเสนอผลการวิเคราะห์ คัดเลือก และกำหนดพื้นที่ศักยภาพเพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาโครงการเมืองใหม่โดยการการวิเคราะห์พื้นที่ ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเมืองใหม่นั้นใช้ "เครื่องมือทางภูมิศาสตร์สารสนเทศ (GIS) มาวิเคราะห์ความเหมาะสมของพื้นที่ด้วยกรอบแนวคิด Potential Surface Analysis (PSA) หรือ Sieve analysis" เป็นการวิเคราะห์ผ่านการซ้อนทับกลุ่มปัจจัยที่ตั้งขึ้นโดยคณะทำงานและที่ปรึกษา อันประกอบด้วย ปัจจัยพื้นที่กันออก ครอบคลุมพื้นที่อนุรักษ์ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ และโบราณสถาน รวมทั้งพื้นที่ข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น พื้นที่ทหาร พื้นที่ถมขยะ เป็นต้น ปัจจัยพื้นที่เสี่ยงภัย ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติต่าง ๆ ภายในจังหวัด เช่น พื้นที่เสี่ยงเกิดภาวะน้ำท่วมและน้ำแล้ง เป็นต้น และปัจจัยพึงประสงค์ครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค และสาธารณูปการต่าง ๆ ภายในจังหวัด ซึ่งหากบริเวณที่มีการกระจุกตัวของโครงสร้างพื้นฐานมากหรือเรียกบริเวณนั้นว่า " ภูมิทัศน์ของการสะสมทุน ( Capital AccumulationLandscape ) " เมื่อเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์ย่อมทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพมากในการพัฒนาเมือง ได้ประยุกต์ใช้ "เทคนิคการมองภาพอนาคต (foresight technique)" ที่ได้จากการจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน เมื่อวันที่ 9 และ 23 กันยายน พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ร่วมกับการวิเคราะห์ทางภูมิศาสตร์สารสนเทศ โดยให้ประชาชน ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยในการออกแบบและวางผังยุทธศาสตร์ ให้มีความแม่นยำ ยืดหยุ่น สามารถรองรับต่อความเปลี่ยนแปลงหรือความไม่แน่นอนในอนาคตได้ ทำให้เกิดปัญญาร่วมนำไปสู่ข้อเสนอในการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันเป็นเครื่องมือที่หลายเมืองใหญ่ทั่วโลกใช้สำหรับจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองในระยะยาว ผลการวิเคราะห์ปรากฏพื้นที่มีศักยภาพ 4 พื้นที่ ใน 3 อำเภอ ที่สามารถคัดเลือกเป็นพื้นที่ ต้นแบบพัฒนาเมืองใหม่ได้ โดยประกอบไปด้วย อำเภอบัวใหญ่ มีศักยภาพในการพัฒนาเป็น "พื้นที่เมืองอุตสาหกรรม และโลจิสติกส์ของภูมิภาค" อำเภอเมือง ปรากฏ 2 บริเวณ มีศักยภาพพัฒนาเป็น "ฟื้นที่ศูนย์กลางเรียนรู้และสร้างสรรค์การวิจัยนวัตกรรมของภูมิภาค" ในฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออกมีศักยภาพพัฒนาเป็น "พื้นที่เมืองสนามบินศูนย์กลางธุรกิจและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้นวัตกรรมระดับนานาชาติ " และในอำเภอปากช่อง มีศักยภาพพัฒนาเป็น "พื้นที่นิเวศนวัตกรรมชีวภาพและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ" ทั้งนี้คณะทำงานและที่ปรึกษาโครงการได้ดำเนินการจัดสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชน เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในกลุ่มอำเภอต่าง ๆ ภายในจังหวัด จัดขึ้นในวันที่ 10 มีนาคม ที่หอประชุมอำเภอบัวใหญ่ที่ผ่านมา และวันที่ 12 มีนาคม ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอปากช่อง