บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ประกาศเจตนารมณ์ สนับสนุนเกษตรกรรายย่อย เอสเอ็มอีไทย ฝ่าทุกวิกฤตไปด้วยกัน ชูระบบนิเวศน์การค้าเพื่อความยั่งยืนสนับสนุนตลอดห่วงโซ่ พร้อมพัฒนาศักยภาพในทุกมิติ หวังดันรายเล็กไต่บันไดเติบโตสู่สาขาในอาเซียน
เมื่อวันที่ 11 มี.ค. นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วิกฤตการณ์โควิด-19 ได้สร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง ต่อผู้ผลิตรายย่อย ทั้ง เอสเอ็มอี และเกษตรกรรายย่อย ที่เป็นพันธมิตรทางการค้าสำคัญ ในปี 2564 นี้จึงมุ่งมั่นที่จะนำพาพันธมิตรทางธุรกิจฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน โดยเพิ่มความเข้มข้นของเจตนารมณ์ด้านการสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย คู่ค้าผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดย่อย (เอสเอ็มอี) ด้วยมาตรการต่างๆ พร้อมทั้งได้วางระบบนิเวศน์ทางการค้ารับยุคนิวนอร์มอล เพื่อปูทางให้รายเล็กมีโอกาสพัฒนาศักยภาพ ขยายการเติบโตสู่การส่งออกสินค้าไปขายยังแม็คโครสาขาในอาเซียน
“แม็คโครมีกลุ่มเกษตรกรไทยที่เป็นคู่ค้ากับเรามากกว่า 7,000 ราย มีผู้ผลิตรายย่อยหรือเอสเอ็มอีอีกกว่า 2,000 ราย ที่ผ่านมาพวกเขาเหล่านี้ได้รับผลกระทบรุนแรงจากสถานการณ์โควิด-19 และปัจจัยรอบด้าน ด้วยเจตนารมณ์อันแน่วแน่ แม็คโคร จึงขอมุ่งมั่นเคียงข้างเกษตรกรไทย และธุรกิจรายย่อย ในทุกสถานการณ์ด้วยการสนับสนุนและช่วยเหลือในทุกวิถีทางที่ทำได้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มธุรกิจฐานรากที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจไทย”
ในปีผ่านมา แม็คโครสนับสนุนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโควิด-19 ในหลายๆ โครงการ เช่น การรับซื้อกุ้งจากกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งในหลายจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ การสนับสนุนและกระจายสินค้าปลากะพง และร่วมมือกับสมาคมภัตตาคารไทยในการสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ จากปลากะพง ทำให้เกิดความนิยมบริโภคปลากะพงใหญ่ ขนาด 3-5 กิโลกรัม อีกทั้งได้ร่วมสนับสนุนโครงการเกษตรแปลงใหญ่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรไทย และเอสเอ็มอี ของแม็คโคร ประกอบด้วย
1.โครงการจับคู่ธุรกิจ Business Matching ส่วนของโครงการบิ๊กบราเธอร์ ที่แม็คโคร ให้ความร่วมมือกับ หอการค้าไทย
2.จัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าย่อยในภูมิภาคต่างๆ 6 แห่ง เพื่อรับซื้อผลผลิตโดยตรงจากกลุ่มเกษตรกร ซึ่งในปี 2564 ตั้งเป้าหมายรับซื้อผักและผลไม้จากเกษตรกรไทย เพิ่มขึ้น 20%
3.การพัฒนามาตรฐานการเพาะปลูก ด้วยการจับมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีเป้าหมายพัฒนามาตรฐาน GAP จาก 1,200 ราย เพิ่มเป็น 1,500 รายในปี 2564
4.การส่งเสริมสภาพคล่อง ด้วยการกำหนดระยะเวลาการชำระสินค้า (Credit Term) ให้ SMEs ส่วนใหญ่ ไม่เกิน 30 วัน
5.การส่งเสริมเอสเอ็มอี และเกษตรกรรายย่อยให้มีศักยภาพขยายธุรกิจสู่ตลาดอาเซียน
นอกจากนี้ แม็คโคร ยังมีเอสเอ็มอี กลุ่มสำคัญที่สนับสนุนและส่งเสริมมาอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ ผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยหรือ โชห่วย ผ่านโครงการ “แม็คโครมิตรแท้โชห่วย” และ กลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจอาหาร ที่มีโครงการแม็คโคร โฮเรก้า อคาเดมี เป็นเครือข่ายสำคัญ
“เกษตรกร และเอสเอ็มอีที่เป็นคู่ค้า ไม่ได้มีแม็คโครเป็นคู่คิดทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุข ที่คอยเคียงข้างและพากันเติบโตไปในธุรกิจค้าส่งค้าปลีกที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศและหลายประเทศในอาเซียน”นางศิริพร กล่าว