วันที่ 10 มีนาคม นายทิวา ศุภจรรยา ผู้อำนวยการสถาบันถิ่นฐานไทย อดีตนักวิชาการด้านธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์ทมหาวิทยาลัย อดีตสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานทำการสำรวจท่าเทียบเรือร่องน้ำคลองวาฬ เขตเทศบาลตำบลคลองวาฬ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อหาแนวทางใช้ประโยชน์ หลังจากกรมเจ้าท่าใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 430 ล้านบาท ก่อสร้างเสร็จสิ้นตั้งแต่ปี 2551 ถึงปัจจุบันนานกว่า 15 ปี แต่ยังไม่มีหน่วยงานในท้องถิ่นบริหารจัดการให้มีความคุ้มค่า ล่าสุดจากการสำรวจทางธรณีวิทยาพบว่า ท่าเรือคลองวาฬช่วงน้ำทะเลลดลง เดิมชายหาดเป็นแนวค่อนข้างตรง ต่อมาเมื่อมีการสร้างท่าเรือ และเขื่อนกันคลื่นในทะเล ทำให้แนวชายหาดมีความเปลี่ยนแปลง มีการงอกของชายฝั่งและชายหาดบางส่วนถูกน้ำทะเลกัดเซาะ จากการไหลเวียนของน้ำทะเล ทำให้กรมโยธาธิการต้องออกแบบวางแผนใช้งบสร้างเคลื่อนกันคลื่น เพื่อป้องกันความเสียหายในระยะยาวในพื้นที่ชายฝั่ง “ การก่อสร้างท่าเรือคลองวาฬถือเป็นตัวอย่างการศึกษาทางวิชาการที่น่าสนใจ หากหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ได้ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้รอบคอบ ก็ไม่ควรสร้างให้สิ้นเปลืองงบประมาณทั้งโครงสร้างคอนกรีต กองหินขนาดใหญ่ในทะเล และการใช้งบรายปีเพื่อขุดลอกทรายที่ตื้นเขินทำให้เรือประมงพาณิชย์ไม่สามารถเข้าจอดเทียบท่าได้ในบางฤดูกาล ดังนั้นกระทรวงคมนาคม กรมเจ้าท่า กรมธนารักษ์ ผู้บริหารควรให้ความสนใจเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งระบบ แม้ว่าจะต้องใช้งบประมาณอีกจำนวนมากเพื่อปรับปรุงท่าเรือ อาคารสำนักงาน และต้องวางแผนเพื่อป้องกันผลกระทบกับชายฝั่ง “นายทิวา กล่าว มีรายงานว่า ก่อนหน้านี้คณะทำงานจากพรรคเพื่อไทย ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบท่าเรือดังกล่าว เนื่องจากก่อสร้างเพื่อส่งเสริมกิจการท่าเรือ สนับสนุนส่งเสริมการขนส่งทางน้ำและลดต้นทุนโลจิสติกส์ มีการก่อสร้างอาคารที่ทำการศุลกากร แต่ไม่พบว่ามีการใช้งานตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ คณะทำงานจึงเก็บข้อมูลหลักฐานแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนงานพัฒนาให้ชัดเจน โดยศึกษาข้อกฎหมายผลักดันให้ท่าเรือคลองวาฬเป็นจุดเชื่อมโยงการเดินเรือของนักท่องเที่ยวด้านทะเลอ่าวไทย ตั้งแต่หัวหิน พัทยา ระยอง และอีกหลายจังหวัดทางภาคใต้ของไทย นอกจากใช้เพื่อขนถ่ายสัตว์น้ำในธุรกิจประมง ขณะที่ประธานสหกรณ์ชาวประมงบ้านคลองวาฬ ระบุว่า ท่าเทียบเรือแห่งนี้ปกติควรยื่นออกไปในทะเลอีกราว 100 เมตร ขณะมีการก่อสร้างโครงการนานกว่า 3 ปี ประชาชนในพื้นที่ไม่มีส่วนในการแสดงความคิดเห็น ต่อมามีการปรับแบบการก่อสร้าง หลังสร้างเสร็จกลุ่มชาวประมงคลองวาฬเห็นว่าท่าเรือถูกทิ้งร้างประกอบกับชาวประมงเดือดร้อน จึงรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มสหกรณ์ เพื่อยื่นขอจดทะเบียนบริหารจัดการดูแลท่าเรือ พร้อมขอให้กรมเจ้าท่าจัดสรรงบประมาณเร่งดำเนินการขุดร่องน้ำให้ลึก เพื่อให้เรือประมงสามารถเข้าจอดเทียบท่าได้ตลอด 24 ชั่วโมงแต่ยังมีปัญหาเนื่องจากยังไม่สามารถหาผู้บริหารจัดการท่าเรือได้ ทำให้ไม่สามารถพัฒนาและใช้ประโยชน์ได้เต็มที่