“คณาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม” รวมตัวตั้งเครือข่ายต่อต้านคอรัปชัน ยื่นฟ้องอดีตผู้บริหารหลายราย มีพฤติกรรมส่อทุจริต-อุ้มคนผิด 12 คดี แฉกลุ่มอำนาจเก่าขวางตั้งผู้บริหารชุดใหม่หวั่นถูกตรวจสอบเช็คบิล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ นักศึกษาและคณาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ได้รวมตัวกันจัดตั้ง “ เครือข่ายนักศึกษาคณาจารย์ต่อต้านคอร์รัปชัน” ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์ประสานงานรวบรวมข้อมูลหลักฐานยื่นฟ้องอดีตอธิการบดีและผู้บริหารมหาวิทยาลัยหลายราย ที่ประพฤติตนส่อไปในทางไม่โปร่งใส โดยมีดร.สมยงค์ แก้วสุพรรณ อุปนายกสมาคมศิษย์เก่าฯ เป็นที่ปรึกษากฎหมาย ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อเดือนม.ค.2560 ดร.ภูษณ ปรีย์มาโนช อดีตกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ร้องเรียนให้มีการตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในมหาวิทยาลัย จำนวน 12 คดี แต่รักษาการผู้บริหารมหาวิทยาลัยกลับนิ่งเฉยไม่มีการดำเนินการใดๆทั้งสิ้น โดยพบว่ามีการบรรจุแต่งตั้ง อาจารย์ที่จบระดับปริญญาโท แต่กลับได้รับเงินเดือนในอัตราวุฒิปริญญาเอกโดยมิชอบ เมื่อมีการร้องเรียน และคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยมีมติว่ากระทำความผิดจริงให้ลงโทษปลดออกจากราชการเมื่อปี 2559 แต่ อดีตผู้บริหาร กลับไม่ทำตาม แต่ถ่วงเวลาเกือบปี แล้วออกคำสั่งบรรจุใหม่ ก่อนตนเองหมดวาระ ขณะเดียวกันยังพบว่า ผู้บริหารปัจจุบัน ยังละเว้นที่จะดำเนินคดีทางวินัย คดีแพ่ง และคดีอาญาต่อผู้กระทำความผิด นอกจากนี้ยังพบว่ามี อดีตผู้บริหารได้อนุมัติงบประมาณนำภรรยาไปทัศนศึกษาและเที่ยวต่างประเทศจำนวน 6 ครั้ง เป็นเงินจำนวนเกือบ 5 แสนบาท ในปี 2558 -2559 แต่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยชุดรักษาการต่อมาก็ไม่ได้มีการดำเนินสอบสวนเพื่อเอาผิดแต่อย่างใด รวมทั้งยัง มีข้าราชการระดับอดีตผู้อำนวยการ ฯ ได้จัดสรรงบประมาณให้กับโครงการวิจัย ที่มีตนเองเป็นผู้รับผิดชอบโครงการละ 2 ล้านบาท จำนวน 5 โครงการ โครงการละ 5 แสนบาท จำนวน 1 โครงการ ทั้งๆที่คณาจารย์อื่นๆได้รับอนุมัติงบประมาณโครงการละ 1- 3 แสนบาทเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งตามระเบียบอาจารย์แต่ละคนมีสิทธิ์เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยได้ไม่เกิน 1 โครงการ นอกจากนั้นยังมีเรื่องร้องเรียนร้ายแรงที่ถูกเพิกเฉยจากผู้รับผิดชอบอีกกว่า 10 คดี ทั้งนี้ เครือข่ายนักศึกษาคณาจารย์ฯ ได้เคยยื่นเรื่องร้องเรียนไปยัง ศูนย์ดำรงธรรม ของจังหวัด , สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ของจังหวัด และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ดร.สมยงค์ แก้วสุพรรณ อุปนายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม เปิดเผยว่า ตนเองได้รับการร้องเรียนการทุจริตจากนักศึกษาและคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยจำนวนมาก ซึ่งพิจารณาหลักฐานแล้วเชื่อว่าน่าจะมีมูลและเป็นเรื่องร้ายแรงมาก ทั้งการทุจริตคอร์รัปชัน และการประพฤติมิชอบ รวมทั้ง การสร้างเครือข่ายอำนาจในมหาวิทยาลัยทุกระดับ ก่อให้เกิดระบบอุปถัมภ์ต่อเนื่องยาวนานกว่า 20 ปี ทั้งๆที่ เป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน เมื่อกลุ่มนักศึกษาคณาจารย์ผู้รักสถาบันรวมตัวกันจัดตั้งเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันขึ้น ตนเองในฐานะศิษย์เก่าคนหนึ่งและแกนนำเครือข่ายป.ป.ช.ภาคประชาสังคมภาคอีสาน จึงยินดีรับเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมาย เพื่อร่วมกันปัดกวาดมหาวิทยาลัยให้สะอาดโปร่งใส ไม่ให้เป็นแหล่งแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอีกต่อไป ซึ่งขณะ นี้ได้มีการร้องเรียนและยื่นฟ้องต่อสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศูนย์ดำรงธรรม และกำลังสรุปข้อมูลตลอดจนพยาน หลักฐานเพื่อยื่นฟ้องคดีอาญา ม. 157 อดีตผู้บริหารมหาวิทยาลัยอีกหลายราย ดร.สมยงค์ เปิดเผยอีกว่า ขณะนี้สถานการณ์ในมหาวิทยาลัยอยู่ในสภาวะสับสนปั่นป่วนเนื่องจากนับตั้งแต่ รศ.สมชาย วงศ์เกษม อดีตอธิการบดีหมดวาระลงเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560 และสภามหาวิทยาลัยได้มีมติแต่งตั้งให้ รศ.ดร.นิรุต ถึงนาค ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ก็ยังไม่มีอธิการบดีตัวจริงเข้าปฏิบัติหน้าที่ ต้องรอการโปรดเกล้าฯก่อน มีแต่เพียงรักษาการอธิการบดีปฏิบัติหน้าที่แบบชั่วคราว ทำให้กลุ่มอำนาจเก่า พยายามทุกวิถีทางที่จะสกัดกั้นการเปลี่ยนแปลงในมหาวิทยาลัย ทั้งการร้องเรียนเรื่องคุณสมบัติผู้ที่จะดำรงตำแหน่งอธิการบดี การจัดส่งเอกสารเพื่อโปรดเกล้าฯไม่ครบถ้วน และการขัดขวางในสภามหาวิทยาลัยไม่ให้มีการแต่งตั้งคณะรองอธิการบดีตัวจริงเข้าดำรงตำแหน่ง เนื่องจากหวั่นเกรงว่าจะมีการเข้าไปตรวจสอบสะสางคดีทุจริตต่างๆ ที่อดีตผู้บริหารหลายรายถูกร้องเรียนและฟ้องร้องคดีอาญา รวมทั้งขัดขวางการจะเข้าไปสลายกลุ่มผลประโยชน์และระบบอุปถัมภ์ที่ฝังรากลึกมานานหลายทศวรรษ ด้านทันตแทพย์สุทธิทธิ์ วัณณสุทธางกูร ประธานเครือข่าย ป.ป.ช.จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า เครือข่าย ป.ป.ช.ก็ได้รับเรื่องร้องเกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบในมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และหน่วยงานต่างๆเป็นจำนวนมาก และได้มีการตรวจสอบและส่งข้อมูลไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลางจนมีการพิจารณาลงโทษผู้กระทำความผิดเบื้องต้นแล้วหลายกรณี สำหรับกรณี ของมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามพวกตนจะเข้าไปตรวจสอบติดตามผลเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยหนึ่งที่ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และองค์กรต่อต้านการทุจริตอีกหลายองค์กร