แผนแม่บทเกษตรชาติระยะ 20 ปี ได้กำหนดเรื่องเกษตรปลอดภัยไว้ในเป็น 1 ใน 5 แผนแม่บทที่รัฐบาลจะขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมาย ในส่วนของการผลักดันตามภารกิจกรมวิชาการเกษตร ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง
นายจิระ สุวรรณประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 สงขลา (สวพ.8) กล่าวว่าภูมิสังคมของภาคใต้ตอนล่างเป็นพื้นที่สวนยางและสวนปาล์มน้ำมันประมาณ 70 % ของพื้นที่ ซึ่งมีความจำเป็นจะต้องใส่ปุ๋ยเคมีเพื่อให้พืชได้ผลผลิตสูง พื้นที่อื่นๆนอกจากนั้นจะเป็นพื้นที่นาที่ข้าว พื้นที่ไม้ผลที่ส่วนใหญ่เป็นแบบผสมผสานหลายชนิด และพื้นที่ปลูกพืชผัก ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ทำการผลิตแบบปลอดภัย และมีส่วนน้อยที่มีการผลิตแบบอินทรีย์ ในส่วนของ สวพ.8 พร้อมให้การสนับสนุนเกษตรกรตามความสมัครใจ โดยการผลิตแบบปลอดภัยจะมีการรับรองมาตรฐาน GAP และในการผลิตแบบอินทรีย์จะมีการรับรองมาตรฐาน Organic Thailand โดยเกษตรกรสามารถยื่นของรับรองได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรในทุกจังหวัด รวมทั้งผ่านหน่วยงานเกษตรอำเภอเกษตรจังหวัด ซึ่งสามารถขอรับรองเป็นรายพืชแบบเดี่ยวๆ หรือแบบหลายชนิดทั้งฟาร์มก็ได้ นอกจากนี้แล้วเกษตรกรยังขอรับรองมาตรฐานการแบบชุมชนมีส่วนร่วม หรือมาตรฐานของจังหวัดต่างๆ ได้ตามที่หน่วยงาน กลุ่ม เครือข่ายสมาพันธ์หรือภาคเอกชนตามที่ได้มีการขับเคลื่อนกันในหลายพื้นที่
นายธัชธาวินท์ สะรุโณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง สวพ.8 กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2564 สวพ.8 จะมีงานหลายโครงการที่นำมาขับเคลื่อนขยายการผลิตพืชปลอดภัยและพืชอินทรีย์ เช่น การขยายผลการใช้ชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดศตรูพืชเพื่อสนับสนุนเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ โดยจะทำการผลิตชีวภัณฑ์ในศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร (ศวพ.) เพื่อสนับสนุนเกษตรกร ตามบันใด 5 ขั้น คือ 1.ผลิตใน ศวพ เพื่อบริการเกษตรกร 2.ให้ความรู้เกษตรกรในการนำไปใช้ให้ได้ผล 3.ติดตามให้คำปรึกษาการนำไปใช้ในไร่นาเกษตรกร 4.อบรมให้เกษตรกรสามารถผลิตใช้เองในบางชนิด 5.พัฒนาเกษตรกรมีรายได้จากบริการและสินค้าที่ผลิตโดยใช้ชีวภัณฑ์ มีการดำเนินงานโครงการวิจัยและพัฒนาในชุมชน เช่น “ป่าขาดโมเดล เกษตรพอเพียง เกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์” นอกจากนั้นจะมีโครงการที่ร่วมกับจังหวัด เช่น จังหวัดพัทลุง กับ ศวพ.พัทลุง ร่วมจัดตั้งศูนย์ชีวภัณฑ์ชุมชน (ศชช.) เพื่อพัฒนาชีวภัณฑ์ให้พร้อมใช้ในชุมชน มีโครงการที่สวพ.8 ร่วมกับสำนักงานพัฒนาและส่งเสริมการเกษตรที่5 จังหวัดสงขลา ร่วมผลิตและส่งเสริมแหนแดงสำหรับเกษตรแปลงใหญ่ เป็นต้น
ด้านเกษตรกรอินทรีย์ดีเด่นในภาคใต้ตอนล่างประจำปี 2564 ทางกลุ่มถ่ายทอดเทคโนโลยี สวพ.8 ได้คัดเลือกนายนิวัฒน์ เนตรทองคำ จังหวัดสงขลา ซึ่งได้เริ่มทำการเกษตรในปี พ.ศ.2540 จากการปลูกพืชผสมผสานระหว่างแปลงยางพารา มีการใส่ปุ๋ยเคมีตามปกติ แต่ไม่มีการใช้สารเคมีในการกำจัดโรคพืชและแมลงศัตรูพืช หลังจากที่ใช้ปุ๋ยเคมีมาระยะหนึ่ง พบว่าดินที่ปลูกมีความกระด้าง และต้นไม้ดูเฉาไม่สดใสเหมือนกับป่าธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ แม้ไม่ได้ใส่ปุ๋ยเคมีเลย ปี พ.ศ.2546 จึงเลิกใช้ปุ๋ยเคมีอย่างถาวร และหันมาทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง โดยการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองในการทำปุ๋ยหมักและน้ำหมัก เพื่อมาทดแทนปุ๋ยเคมีอย่างมีประสิทธิภาพมีการเลี้ยงสัตว์ในแปลงอินทรีย์ เพื่อนำมาบริโภค และจำหน่าย ส่วนของมูลสัตว์สามารถนำมาทำเป็นปุ๋ย และมีการขุดสระเลี้ยงปลา เมื่อมีความรู้ความเข้าใจในการผลิตพืชอินทรีย์จึงได้สมัครขอการรับรองแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ และได้รับการรับรองแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ จากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 กรมวิชาการเกษตร ในปี พ.ศ.2560 และคงไว้ซึ่งการรับรองมาจนถึงปัจจุบัน
การบริหารจัดการสวนตามหลักพืชอินทรีย์ของนายนิวัฒน์ เนตรทองคำ ในการจัดการด้านพื้นที่ปลูก มีการปลูกพืชผสมผสานทั้งแปลง ได้แก่ ลองกอง ผักกูด ผักหวาน ผักเหลียง มะนาว ชะอม ไผ่ มะละกอ กล้วย ส้มจี๊ด ข่า ตะไคร้ มะกรูด พริก พริกไทย ผักโขม และหม่อน แหล่งน้ำ: มีการขุดสระภายในแปลง และใช้น้ำจากประปาภูเขา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติจากน้ำตกโตนงาช้าง มีการให้น้ำด้วยระบบสปริงเกอร์ การวางแผนการจัดการ: มีมาตรการป้องกันการปนเปื้อนทางดินมีแนวกันชนทั้ง 4 ทิศ เมล็ดพันธุ์และส่วนที่ใช้ขยายพันธุ์: ได้จากขยายพันธุ์ด้วยตนเองจากแปลงปลูก และทำการคัดเลือกพันธุ์ที่ดีไว้เป็นต้นพันธุ์ต่อไป การจัดการและการปรับปรุงบำรุงดิน : มีการทำปุ๋ยหมักใช้เอง ไม่มีการเผาทำลายเศษซากพืชภายในแปลง มีการถอนกำจัดวัชพืช และปลูกพืชอาหารเป็นพืชคลุมดิน การจัดการศัตรูพืช: ใช้วิธีการจัดการบริหารศัตรูพืชแบบผสมผสาน (IPM) โดย มีการจัดการแมลงศัตรูพืช ให้นกและแมลงตัวห้ำในแปลง วัชพืช ใช้วิธีการถอนและปล่อยเป็ดให้กินวัชพืช การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : มีการรวบรวมผลผลิตมาตัดแต่งผลผลิตที่เสียหายออก และบรรจุใส่ถุง รอจำหน่าย มีการทำความสะอาดเครื่องมือและอุปกรณ์ก่อนนำมาใช้ และมีการบำรุงรักษาให้มีสภาพพร้อมใช้งาน ในส่วนของผลผลิตที่ไม่ได้มาตรฐานหรือเหลือจากการตกแต่ง นำไปทำปุ๋ยหมักต่อไป มีการบันทึกข้อมูลเพื่อการทวนสอบ
ผู้สนใจสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเพิ่มหรือดูงานได้ที่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 สงขลา โทรศัพท์ 074 445905-7