นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อการจัดจำหน่ายสินค้าของเกษตรกร ทั้งตลาดภายในประเทศและการส่งออกไปต่างประเทศ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ดำเนินการสอบถามไปยังกลุ่มเกษตรกรที่เป็นสมาชิกและเครือข่ายของหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาพบว่ามีผักและผลไม้จากเกษตรที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น มะม่วง ส้ม สับปะรด ลำไย ลองกอง มะพร้าว ลิ้นจี่ โดยมีผลผลิตรวมกว่า 2.4 ล้านตัน ใน phase แรก ซึ่งเป็นผักและผลไม้ที่จะออกตามฤดูกาลว่ามีผลผลิตประมาณ 2.4 ล้านตัน และได้ส่งข้อมูลให้ กลุ่ม CP ทั้งสามเครือข่าย คือ บมจ. ซีพี ออลล์ (CPALL) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น บมจ. สยามแม็คโคร (MAKRO) และโลตัส ประเทศไทย ดำเนินการลงพื้นที่เพื่อรับซื้อผลผลิตอย่างต่อเนื่อง และทำโรงบรรจุภัณฑ์และต้องยกระดับมาตรฐาน GAP ด้วย ทั้งนี้ในอนาคตจะมีการส่งออกผักและผลไม้ไปยังต่างประเทศด้วย โดยทั้งซีพี ออลล์ โลตัส และแม็คโคร ยินดีให้การสนับสนุนรับซื้อผลผลิตดังกล่าว เพื่อมาจำหน่ายในช่องทางต่างๆของบริษัทต่อไป ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการไปบางส่วนแล้ว เช่น ซีพี ออลล์ รับซื้อถั่วลายเสือ จากวิสาหกิจชุมชนแม่ฮ่องสอน ขายผ่านร้านเซเว่นฯ โลตัส รับซื้อมะม่วงน้ำดอกไม้ จากชมรมผู้ผลิตมะม่วงเชิงธุรกิจ จ.พิจิตร-พิษณุโลก โดยผ่านการแนะนำจากประธานหอการค้าจังหวัดพิจิตรและกลุ่มแปลงใหญ่มะม่วงทับไทร จ.พิจิตร แม็คโคร ติดต่อกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ส่งออกมะม่วง อ.บางแพ จ.ราชบุรี ซึ่งมีเกษตรกรกว่า 60 ราย นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร MAKRO กล่าวว่า การสนับสนุนเกษตรกรและ SME คือสิ่งที่แม็คโครทำมาโดยตลอด โดยแม็คโครมีคู่ค้า (Supplier) ที่เป็นผู้ผลิต SME จำนวน 2,000 ราย และมีคู่ค้าที่เป็น SME ประเภทเกษตรกรรายย่อยอีกกว่า 7,000 ราย ซึ่งในแต่ละปี แม็คโครได้รับซื้อผลผลิตทางการเกษตรเข้าสู่สาขาทั่วประเทศ จำนวนกว่า 170,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,500 ล้านบาท นอกจากนี้ แม็คโครมีส่วนร่วมในการให้ความรู้และเป็นแหล่งกระจายสินค้า SME ไทยสู่ประเทศอาเซียน สำหรับปี 2564 คาดว่าจะรับซื้อผักและผลไม้เพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 20% ทั้งมุ่งเน้นพัฒนาเกษตรกรให้ได้รับมาตรฐาน GAP เพิ่มขึ้นจาก 1,200 ราย เป็น 1,400-1,500 ราย โดยแม็คโครมีการเปิดศูนย์กระจายสินค้าย่อย เพื่อรับซื้อสินค้าโดยตรงจากเกษตกรในภูมิภาคต่างๆ มากกว่า 6 แห่งทั่วประเทศ นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล รองประธานกรรมการบริหาร CPALL กล่าวว่า ที่ผ่านมาว่า มีความร่วมมือกับหอการค้าไทย ในการส่งเสริมผู้ประกอบการหลายกิจกรรม เช่น โครงการ Big Brother โครงการ Business Accelerator นอกจากนั้น ซีพี ออลล์ ยังมอบโอกาสด้านธุรกิจ ด้วยการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SME และเกษตรกรไทยได้มีช่องทางการจำหน่ายสินค้าไปทั่วประเทศ สร้างโอกาสในการเป็นคู่ค้าธุรกิจกับซีพี ออลล์ เช่น เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมทอง เป็นกลุ่มที่ได้รับโอกาสทางธุรกิจการจำหน่ายผ่านร้านเซเว่น อีเลฟเว่นทั่วประเทศ สำหรับความร่วมมือกับหอการค้าไทยในอนาคต ซีพี ออลล์ ยังคงช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ทั้งที่เป็น Offline และ Online และการจับคู่ทางธุรกิจด้วยโครงการ วันแห่งโอกาสดี@CP ALL นายสมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจโลตัส ประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา เกษตรกรจำนวนมากประสบปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ ประกอบกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการจำหน่ายสินค้าเกษตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในเบื้องต้น โลตัสจะร่วมมือกับหอการค้าไทย รับซื้อมะม่วงกว่า 1,000 ตัน จากกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในเครือข่ายของหอการค้า นอกจากนั้น ตลอดทั้งปีนี้ โลตัสจะเดินหน้ารับซื้อผักและผลไม้เพิ่มขึ้น 10,000 ตันจากปีที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุนเกษตรกรทั่วประเทศ