สำหรับผู้ที่รับวัคซีนโควิด 19 ครบ พร้อมลดวันกักตัวผู้เดินทางจากต่างประเทศที่มีใบรับรองฉีดวัคซีนโควิดเหลือ 7 วัน หากไม่มีใบรับรองฉีดวัคซีน มีเพียงผลตรวจปลอดเชื้อโควิด ลดกักตัวเหลือ 10 วัน ยกเว้นผู้เดินทางจากทวีปแอฟริกาคงการกักตัว 14 วัน นั้น ล่าสุด รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า...สถานการณ์ทั่วโลก 10 มีนาคม 2564 ยอดติดเชื้อทะลุเกิน 118 ล้านคนแล้ว
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 389,469 คน รวมแล้วตอนนี้ 118,095,610 คน ตายเพิ่มอีก 9,244 คน ยอดตายรวม 2,619,807 คน
อเมริกา เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 49,627 คน รวม 29,782,952 คน ตายเพิ่มอีก 1,691 คน ยอดตายรวม 540,151 คน
อินเดีย ติดเพิ่ม 16,846 คน รวม 11,261,470 คน
บราซิล ติดเพิ่ม 70,764 คน รวม 11,122,429 คน
รัสเซีย ติดเพิ่ม 9,445 คน รวม 4,342,474 คน
สหราชอาณาจักร ติดเพิ่มอีก 5,766 คน รวม 4,228,998 คน
อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่นต่อวัน
แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงบังคลาเทศ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็ยังมีติดเชื้อเพิ่ม ส่วนใหญ่หลักร้อยถึงพันกว่า
ในขณะที่แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักพัน
ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนเมียนมาร์ ไทย ฮ่องกง ออสเตรเลีย และกัมพูชา ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่จีน สิงคโปร์ เวียดนาม และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
ในระยะหลังมานี้ บราซิลมีจำนวนการติดเชื้อต่อวันสูงกว่าอเมริกาในหลายต่อหลายวัน การระบาดของเค้ากำลังอยู่ในขาขึ้น และต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสายพันธุ์ P.1 นั้นเป็นหนึ่งในกลุ่มสายพันธุ์ไวรัสที่กลายพันธุ์ และมีความกังวลว่าจะดื้อต่อวัคซีนและการรักษาต่างๆ ที่มี
นอกจากสายพันธุ์ P.1 ของบราซิลแล้ว ยังมีสายพันธุ์สหราชอาณาจักร B.1.1.7 และสายพันธุ์แอฟริกาใต้ B.1.351 ที่มีการศึกษาวิจัยเรื่องการดื้อต่อการรักษาด้วย monoclonal antibody, convalescent plasma และวัคซีน
ล่าสุด มีงานวิจัยเรื่อง P.1 โดย Wang P และคณะ เผยแพร่ใน BioRxiv วันที่ 2 มีนาคม 2564 และงานวิจัยเรื่อง B.1.1.7 และ B.1.351 ของทีมเดียวกัน เผยแพร่ใน Nature วันที่ 8 มีนาคม 2564 มีสาระสำคัญดังนี้
สายพันธุ์บราซิล P.1 นั้นชัดเจนว่าดื้อต่อการใช้ monoclonal antibody และยังพบว่าดื้อต่อการใช้ convalescent plasma 6.5 เท่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดิม และดื้อต่อซีรัมของคนที่ได้รับวัคซีน 2.2-2.8 เท่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดิม
ในขณะที่สายพันธุ์สหราชอาณาจักร B.1.1.7 นั้นแม้จะดื้อต่อ monoclonal antibody บ้าง แต่ไม่ค่อยส่งผลต่อการใช้ convalescent plasma และซีรัมของคนที่ได้รับวัคซีน
ส่วนที่ดูโหดมากคือ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ B.1.351ที่ดื้อต่อทั้ง monoclonal antibody และพบว่าดื้อต่อการใช้ convalescent plasma ถึง 9.4 เท่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดิม และดื้อต่อซีรัมของคนที่ได้รับวัคซีนถึง 10.3-12.4 เท่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดิม
ที่เล่ามานั้น เพื่อให้เราทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันตัว และเพื่อให้รัฐระมัดระวังเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสกลายพันธุ์เหล่านี้ ที่อาจเข้ามาในประเทศ หากมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือแม้แต่การรับคนไทยที่เดินทางกลับเข้ามาจากประเทศต่างๆ ทั้งนี้สิ่งจำเป็นอย่างยิ่งคือ "การใช้ระบบการกักตัว 14 วันและตรวจคัดกรองมาตรฐาน"
หากหลงคิดว่า มี vaccine passport แล้วจะอยู่รอดปลอดภัยไร้กังวล จะลดวันกักตัวลง ก็ขอบอกตรงๆ ว่าคงไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการแพทย์ดังที่อธิบายมาก่อนหน้านี้ และการได้รับวัคซีนมาแล้ว ก็ยังสามารถติดเชื้อได้ และยังมีโอกาสที่จะนำเชื้อมาแพร่ให้แก่คนในประเทศได้ด้วยถ้าระบบการกักตัวไม่เข้มแข็งเพียงพอ
สำหรับเราทุกคนในประเทศ ขอเรียนว่าศึกนี้อีกยาว การใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ อยู่ห่างคนอื่นหนึ่งเมตร ลดละเลี่ยงการพบปะสังสรรค์ตะลอนท่องเที่ยวโดยไม่จำเป็น รวมถึงการคอยสังเกตอาการตนเองและครอบครัว หากไม่สบายคล้ายหวัด ขอให้นึกถึงโควิดไว้ด้วยเสมอ ควรหยุดเรียนหยุดงานแล้วรีบไปตรวจรักษา อย่าปล่อยทิ้งไว้หรือซื้อยากินเอง
นอกจากนี้ การพกแอลกอฮอล์เจล หรือสเปรย์ ติดตัว เพื่อใช้ในการล้างมือ และเพื่อใช้ฉีดพ่นสิ่งของต่างๆ ที่จะจับต้องนั้นก็จะได้ประโยชน์มาก และปลอดภัยมากขึ้น อย่างไรก็ตามควรระมัดระวัง ไม่ควรล้างมือด้วยเจลแล้วไปขยี้ตาตอนยังไม่แห้งหมดดี และไม่ควรใช้สเปรย์ใกล้ใบหน้าใกล้ดวงตา เพราะอาจเป็นอันตราย ระคายเคืองทางเดินหายใจหากสูดดมเข้าไป หรือระคายเคือง เจ็บปวด และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อดวงตาได้
ขอขอบคุณข้อมูล และรูปภาพจากเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat