อยากชวนคนรักหนังสือและชอบอ่านการ์ตูนไทย ไปชมวิวัฒนาการการ์ตูนไทยในนิทรรศการ “หนังสือการ์ตูนไทยไฉไลกว่าที่คิด” จัดโดยสำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร เป็นการเผยแพร่เพื่อสร้างการรับรู้ให้ตระหนักถึงความสำคัญของหนังสือการ์ตูนไทย ที่เป็นทรัพยากรสารสนเทศมรดกทางวัฒนธรรม โดยจัดแสดงประวัติความเป็นมา และวิวัฒนาการของหนังสือการ์ตูนไทยตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นจนถึงยุคปัจจุบัน มีการจัดแสดงต้นฉบับหนังสือการ์ตูนไทยที่จัดเก็บและให้บริการที่สำนักหอสมุดแห่งชาติ ตั้งแต่เอกสารโบราณประเภทสมุดไทยขาว หนังสือหายาก หนังสือพิมพ์เก่า หนังสือการ์ตูนไทย จนถึงยุคดิจิทัล นิทรรศการเรื่อง “หนังสือการ์ตูนไทยไฉไลกว่าที่คิด” นำเสนอวิวัฒนาการของหนังสือการ์ตูนไทยโดยแบ่งออกเป็น 3 ยุคสมัย ดังนี้ 1. ยุคแรก (พ.ศ. 2387 – 2474) จิตรกรรมไทยเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากศิลปะตะวันตก โดยขรัวอินโข่ง จิตรกรเอกในยุคต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นจิตรกรไทยคนแรกที่นำแนวคิดการวาดภาพจิตรกรรมแบบตะวันตกมาใช้เป็นต้นแบบในการวาดภาพ จนได้รับการยกย่องว่าเป็นจิตรกรล้ำสมัย กระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความนิยมวาดภาพล้อเลียนการเมืองในหนังสือพิมพ์ตามแบบตะวันตกกันอย่างกว้างขวาง ผลงานที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการฯ เช่น ลายเส้นบนสมุดไทยขาว ภาพฝีพระหัตถ์ที่ตีพิมพ์ในหนังสือดุสิตสมิต ภาพผลงานของนักเขียนผู้บุกเบิกการเขียนการ์ตูนการเมืองคนแรกของไทย เปล่ง ไตรปิ่น ภาพลายเส้นโดยขรัวอินโข่ง 2. ยุคบุกเบิก (พ.ศ. 2475 – 2499) วงการการ์ตูนไทยเริ่มผสมผสานวัฒนธรรมตะวันตกและวัฒนธรรมไทยผ่านตัวการ์ตูนสองประเภท คือ การ์ตูนเรื่องจากวรรณคดีและนิทานพื้นบ้าน และการ์ตูนสะท้อนสภาพสังคมการเมือง นักเขียนการ์ตูนในยุคนี้ เช่น สวัสดิ์ จุฑะรพ, ฟื้น รอดอริห์, ฉันท์ สุวรรณบุณย์, ประยูร จรรยาวงศ์, เหม เวชกร, พิมล กาฬสีห์ 3. ยุคปัจจุบัน (พ.ศ. 2500 – ปัจจุบัน) วงการการ์ตูนได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่นและจีน หนังสือการ์ตูนไทยที่ถือได้ว่าครองใจคนไทยทุกเพศทุกวัย เช่น ขายหัวเราะ มหาสนุก ไอ้ตัวเล็ก จนถึงปัจจุบันเมื่อรูปแบบสังคมเข้าสู่ยุคดิจิทัล การ์ตูนได้ปรับเปลี่ยนก้าวข้ามจากสื่อสิ่งพิมพ์กระดาษไปสู่สื่อสิ่งพิมพ์ออนไลน์ ทั้งนี้ หนังสือการ์ตูนไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านเนื้อหา รูปแบบการเข้าถึง และการผสมผสานทางวัฒนธรรม แสดงถึงความเอาใจใส่ต่อสังคมและความคิดสร้างสรรค์ของนักเขียนการ์ตูนทั้งในแง่ของรูปแบบ เนื้อหาและการนำเสนอ สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการ “หนังสือการ์ตูนไทยไฉไลกว่าที่คิด” ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 11 เมษายน 2564 วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 09.00 – 16.30 น. วันเสาร์และวันอาทิตย์ เวลา 09.00 – 17.00 น. หยุดวันนักขัตฤกษ์ ณ ห้องวชิรญาณ 2 และ 3 อาคาร 2 ชั้น 1 สำนักหอสมุดแห่งชาติ เทเวศร์ กรุงเทพมหานคร