เมื่อวันที่ 9 มี.ค.64 นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่ารฟม. ได้ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดี รวมถึงเหตุแห่งการพิจารณาเกี่ยวกับการขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองไม่มีอยู่ต่อไป และคดีนี้มิได้เป็นคดีที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ การพิจารณาคดีต่อไปไม่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ และ รฟม. ได้ยื่นคำร้องชี้แจงข้อเท็จจริงและขอให้จำหน่ายคดีต่อศาลปกครองกลาง และศาลปกครองกลางได้มีคำสั่ง ฉบับลงวันที่ 5 มีนาคม 2564 จำหน่ายคดีในข้อหาที่ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยให้เหตุผลว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีตามคำขอที่ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งพิพาทหมดสิ้นไป ไม่มีเหตุที่จะให้ศาลต้องมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพื่อออกคำบังคับตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ต่อไปอีก และศาลยังได้มีคำสั่งให้ คำสั่งศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ที่ให้ทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 สิ้นผลบังคับลงไปด้วย
สำหรับเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชนนั้น รฟม.ยังคงยืนยันที่จะพิจารณาทั้งจากด้านเทคนิค 30% ควบคู่กับผลตอบแทนการลงทุนอีก 70% เนื่องจากสภาพพื้นที่เส้นทางโครงการมีอาคารอนุรักษ์อยู่เป็นจำนวนมาก ต้องดำเนินการด้วยเทคนิคก่อสร้างที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุด แต่อย่างไรก็ตามเอกชนสามารถเสนอความคิดเห็นมาได้ ไม่ว่าจะเป็นเสนอราคาอย่างเดียวหรือจะใช้สัดส่วนด้านเทคนิคและราคาเป็นเท่าไหร่
นายภคพงศ์ กล่าวว่า สำหรับการล้มประมูลครั้งแรก เพื่อเร่งเปิดประมูลใหม่ในครั้งที่ 2โดยไม่รอคำตัดสินของศาลนั้ยนอมรับว่าอาจจะทำให้โครงการล่าช้า กว่ากำหนด 1เดือน แต่หากรอผลการพิจารณาของศาล อาจจะทำให้เกิดความล่าช้า 1ปี ซึ่งอาจสร้างความเสียหายมากกว่า สำหรับขั้นตอนต่อไป หลังจากศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 สิ้นผลบังคับลงไปด้วยรฟม.จะออกประกาศเชิญชวนภายในเดือน เม.ย.64 หลังจากนั้นจะขายเอกสาร RFP และเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ ในเดือน มิ.ย. และประเมินข้อเสนอ และประกาศผลได้ข้อสรุปภายในเดือน ก.ค. ทั้งนี้แม้จะมีผู้ยื่นเสนอรายเดียวก็สามารถดำเนินการได้ และคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณา ภายในเดือน ส.ค.นี้ เพื่อเห็นชอบผลการเจรจา
“โดยการยกเลิกการประมูลและเปิดประมูลใหม่จะช่วยให้การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มทำได้เร็วกว่าการรอคำสั่งศาลที่คาดว่าจะใช้เวลา 1 ปี ซึ่งตามขั้นตอนศาลแล้วจะต้องมีการอุทธรณ์ของคู่กรณี แต่การเปิดประมูลใหม่เบื้องต้นล่าช้ากว่ากำหนดราว 1 เดือนเท่านั้น ศาลได้สั่งให้จำหน่ายคดีนี้แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องรอผลคำพิพากษา ถือว่า คำสั่งขอคุ้มครองฉุกเฉินให้ใช้เกณฑ์คัดเลือก ก่อน รฟม แก้ไข สิ้นผลบังคับใช้ไปด้วย ถือว่าคดีสิ้นสุดแล้ว รฟม จึงสามารถเดินหน้าประมูลครั้งใหม่ต่อไปได้” นานภคพงศรกล่าว
สำหรับโครงการสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตกระยะทาง 35.9 กิโลเมตรแบ่งเป็นส่วนตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ระยะทาง 22.5 กิโลเมตรจำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตกช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) คาดว่าจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-สุวินทวงศ์ ในปี 2567 และรถไฟฟ้าสายสีสัมตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในปี 2569