มรส.ผนึกภาคี 3 จังหวัด จัดปฐมนิเทศเครือข่ายวิศวกรสังคม “ชุมชนก้าวหน้า ท้องถิ่นก้าวไกล ไปกับวิศวกรสังคม พร้อมยกระดับเศรษฐกิจและสังคมให้ยั่งยืน
วันนี้ (9 ก.พ. 2564) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี(มรส.) จัดกิจกรรมปฐมนิเทศเครือข่ายวิศวกรสังคม ภายใต้ชื่องาน “ชุมชนก้าวหน้า ท้องถิ่นก้าวไกล ไปกับวิศวกรสังคม โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยสู่ สร้างรากแก้วให้ประเทศ) ร่วมบูรณาการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลตามปัญหาและความต้องการของชุมชน ณ หอประชุมวชิราลงกร มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ทำหน้าที่หน่วยงานบูรณาการโครงการรายตำบลดูแลยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลตามปัญหาและความต้องการของชุมชน เป็นต้นว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและบริการชุมชน การพัฒนาการตลาดและสิ่งอำนวยความสะดวก การส่งเสริมและพัฒนาฝีมือแรงงานชุมชนการส่งเสริมให้เกิดการฟื้นฟูและพัฒนาท้องถิ่นตนเอง การพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน เป็นต้น ที่สำคัญมหาวิทยาลัยจะเป็นหน่วยจ้างงานในตำบลที่ทำหน้าที่ดูแล โดยจ้างงานประชาชนทั่วไป บัณฑิตจบใหม่ และนักศึกษาไม่น้อยกว่า 20 คน ในแต่ละตำบลรวมทั้งทำหน้าที่ประสานงานและทำงานร่วมกับจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชนรายตำบล (Community Big Data) เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์และตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบมีเป้าหมายชัดเจน
ดร.พลกฤต แสงอาวุธ Project managerโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยสู่ สร้างรากแก้วให้ประเทศ) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้ดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการในลักษณะของห้องเรียนวิศวกรสังคม จำนวน 82 ห้องเรียน ประกอบด้วย 1 ห้องเรียนหรือ 1ตำบล มีครูประจำชั้นจำนวน 1 คน และวิศวกรสังคม จำนวน 20 คน ทำงานประสานและร่วมงานกับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่น ๆ ในพื้นที่ โดยที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้จัดให้มีการอบรมทักษะวิศวกรสังคมโดยคาดหวังว่าวิศวกรสังคมทุกคนจะกลายเป็นนักคิด ที่มีทักษะการคิดวิเคราะห์เชิงเหตุ-ผล เห็นปัญหาเป็นสิ่งท้าทาย เป็นนักสื่อสาร ที่มีทักษะในการสื่อสารองค์ความรู้เพื่อการแก้ปัญหา เป็นนักประสานที่มีทักษะในการทํางานร่วมกับผู้อื่นโดยปราศจากข้อขัดแย้ง และเป็นนวัตกร ที่มีทักษะการสร้างนวัตกรรมบนฐานข้อมูลชุมชน
ดร.พลกฤต กล่าวต่อไปว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการทั้งสิ้น 267,566,000 บาท มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชน บัณฑิตจบใหม่ และนักศึกษาได้รับการพัฒนาทักษะการเป็นวิศวกรสังคม อีกทั้งสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืนเพื่อพัฒนา ส่งเสริม และยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนและการท่องเที่ยวชุมชนในทุกมิติ ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และเพื่อให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีสามารถนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีได้รับการจัดสรรงบประมาณในพื้นที่บริการของมหาวิทยาลัย จำนวน 82 ตำบล ประกอบด้วย 1. จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 63 ตำบล 2. จังหวัดชุมพร จำนวน 7 ตำบล 3. จังหวัดระนอง จำนวน 12 ตำบล ซึ่งมีการจ้างงานทั้งสิ้น 1,640 อัตรา ประกอบด้วยบัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 3 ปี จำนวน 820 อัตรา /ประชาชน จำนวน 410 อัตรา และนักศึกษา จำนวน 410 อัตรา