มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถือฤกษ์ดี “วันอาจารย์ป๋วย” เปิดหอจดหมายเหตุฯ สมัยใหม่ สืบค้นเอกสาร-ข้อมูลวิชาการ ผ่านระบบดิจิทัลไฟล์เต็มรูปแบบ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โดยหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ และวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร่วมกันจัดงาน “วันอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี 2564” ขึ้นเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 เพื่อเป็นการแสดงมุทิตาจิต และรำลึกถึงคุณงามความดีของ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่มีต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และประเทศไทย โดยมีการจัดพิธีสงฆ์ และพิธีเปิดหอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ อาคารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี รศ.เกศินี วิฑูรชาติ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานเศรษฐกิจไทยสมัยใหม่ อีกทั้งเป็นผู้ที่อุทิศตนให้กับชาติบ้านเมืองด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และมีจริยธรรมในการทำงานเสมอมา จนได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในด้านผู้มีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ รศ.เกศินี กล่าวว่า ในวันนี้ นับเป็นโอกาสดีที่ มธ. ได้เปิดหอจดหมายเหตุฯ ณ อาคารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ซึ่งที่จริงแล้วหอจดหมายเหตุฯ ได้ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2534 เพื่อเป็นแหล่งบริการข้อมูล การศึกษา งานวิจัย ฯลฯ โดยได้ให้บริการสังคมและประชาชนมาตลอด 30 ปี จนกระทั่งปี 2560 ที่หอจดหมายเหตุฯ ได้เข้ามาเป็นหนึ่งในหน่วยงานของหอสมุดฯ ซึ่งถือเป็นการยกระดับการให้บริการให้เท่าทันยุคสมัยมากยิ่งขึ้น สำหรับหอจดหมายเหตุฯ ในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาระบบการจัดเก็บเอกสารที่ทันสมัย ใช้นวัตกรรมเพื่อจัดเก็บเอกสารให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลไฟล์เต็มรูปแบบ ตลอดจนพัฒนาระบบการสืบค้นตามมาตรฐานสากล ซึ่งทำให้ง่ายต่อการใช้งานเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ หอจดหมายเหตุฯ ยังได้รับการจัดสรรพื้นที่ภายในอาคารอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี เพื่อจัดตั้งเป็นสํานักงานและสถานที่ให้บริการ โดยมีการออกแบบ ตกแต่ง และสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการเรียนรู้ และยังมีการจัดแสดงนิทรรศการที่น่าสนใจหัวข้อ “สามัญชนคนชื่อ ‘ป๋วย’ ชีวิต ความคิด และผลงาน” ที่ได้จัดทําออกมา 2 รูปแบบ ได้แก่ นิทรรศการถาวร และนิทรรศการเสมือน เพื่อระลึกถึงคุณงามความดี ในฐานะผู้ริเริ่มและบุกเบิกการขยาย มธ. มายังศูนย์รังสิต อนึ่ง ผู้ที่สนใจสามารถอ่านจุลสารหอจดหมายเหตุฯ หนังสือ คลังภาพ โปสเตอร์ และชมนิทรรศการออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ของหอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ที่ http://archives.library.tu.ac.th/