ที่ชุมชนคุณธรรมวัดหน้าไม้ ต.หน้าไม้ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี แห่งนี้ เป็นโมเดล BCG เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่ในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าทางการเกษตร เน้นการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากการเกษตรอินทรีย์ นำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาพัฒนาต่อยอดจากฐานความเข้มแข็งเดิมและนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และคุ้มค่าที่สุดโดยมี ผู้ใหญ่มานะ ห่อผล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่6และนางวิลาวัณย์ ฐีตะธรรมานนท์ ขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมวัดหน้าไม้แห่งนี้ ผู้ใหญ่มานะ ห่อผล กล่าวว่าถ้าพูดถึงต้นมะขวิดคิดว่าเด็กรุ่นใหม่อาจไม่ค่อยรู้จักกัน เชื่อว่าต้นก็ไม่เคยเห็น ลูกหรือผลก็คงไม่เคยสัมผัสว่ามีหน้าตาอย่างไร วันนี้เลยชวนมาชิมน้ำมะขวิดกับแยมมะขวิด มะขวิด สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ทั้งเป็นอาหารและยารักษาโรค ทุกส่วนของมะขวิดสามารถนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ เช่น กินเนื้อสดๆ หรือนำไปปรุงเป็นน้ำมะขวิด กินแล้วช่วยบำรุงกำลัง ทำให้สดชื่น เจริญอาหาร ในมะขวิดมีกากใยอาหารช่วยขับถ่ายสะดวกและมีวิตามินซีสูงด้วย หรือใช้ผลดิบมาหั่นบางๆ นำไปตากแห้งแล้วนำมาชงกับน้ำร้อน กินเป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย บำรุงทำให้สดชื่น ได้เช่นกัน ผลมะขวิดที่สุกแล้ว จะส่งกลิ่นหอมฟุ้ง เมื่อทุบเปลือกมะขวิดแตกออกแล้ว เนื้อด้านในจะอ่อนนุ่มเป็นสีน้ำตาลเข้ม เหมือนเนื้อมะขาม มีรสอมเปรี้ยวอมหวาน มีกลิ่นหอม ใช้รับประทานเป็นผลไม้ ทำให้สดชื่น และมีคุณสมบัติเป็นยาบำรุงธาตุ หรือจะนำไปทำน้ำมะขวิดก็ได้นอกจากนี้ ในเนื้อมะขวิดมีน้ำตาลหลายชนิดที่ร่างกายต้องการ จึงมีการนำมากินสดๆ หรือนำไปทำน้ำผลไม้ ทำแยมทาขนมปังกินกัน รสอร่อยและมีประโยชน์ต่อร่างกาย นางวิลาวัณย์ ฐีตะธรรมานนท์ ได้สาทิตการทำน้ำมะขวิดและแยมมะขวิดให้ชม ขั้นตอนการทำง่ายแสนง่ายใช้วัตถุดิบน้อย เลือกลูกมะขวิดที่สุกแล้วมา2ลูกผ่าออกเป็น2ซีกจะเห็นเนื้อมะขวิดสีน้ำตาลแก่ๆนำเอามาคั้นกับน้ำแล้วกรองเอาเนื้อกับน้ำมาต้มใส่น้ำตาลทรายนิดหน่อยแล้วก็เทใส่ขวดพร้อมดื่มได้เลย รสชาติของน้ำมะขวิดจะออกรสเปรี้ยวอมหวาม ดื่มแล้วรู้สึกสดชื่น ส่วนการทำแยมมะขวิด ก็ทำลักษณะคล้ายๆกับการทำน้ำมะขวิด แต่ต้องนำเนื้อมะขวิดที่กรองแล้วนำมาเคี่ยวไฟอ่อนๆให้เนื้อรวมตัวกันจนข้นเติมน้ำตาลทราย สารความหวานให้เนื้อแยม ช่วยทำให้เพคตินในผลไม้เกิดการตกตะกอนเป็นเจลได้ง่ายขึ้น ทานกับขนมปังอร่อยมาก รสชาติจะคล้ายๆกับพุทรากวน นางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี เปิดเผยว่า ด้วยผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาและทุนทางวัฒนธรรม(CPOT) หรือของดีบ้านฉัน เป็นผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการที่สะท้อนภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันมีความโดดเด่นของชุมชนในท้องถิ่น โดยการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเชื่อมโยงกับเทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม ให้มีลักษณะเฉพาะตัวที่โดดเด่น เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ที่สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนและประชาชน ในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืนเป็นรูปธรรมสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีค่ามหาศาล วัฒนธรรมจึงเปรียบเสมือนต้นน้ำของอุตสาหกรรมการสร้างสรรค์โดยเราสามารถนำเรื่องราวของวัฒนธรรมประจำท้องถิ่น มาสร้างความโดดเด่นหรือจุดขาย สามารถทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศ