กำหนดไว้ในหลักสูตรชัดเจน ทั้งหน้าที่พลเมือง มีทั้งเรียนรู้และปฏิบัติ ทั้งเรียนรู้รัฐธรรมนูญ ระบอบประชาธิปไตย ทั้งยังส่งเสริมเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชน ท้องถิ่น ชาติ และภูมิภาค ด้วยรูปแบบที่หลากหลาย เน้นความเข้มข้นทั้งด้านคุณธรรมจริยธรรม ที่ต้องมีทั้งความเก่งและความดีเพื่อพัฒนาประเทศ เมื่อวันที่ 9 มี.ค.64 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า จากประเด็นที่มีบุคคลจำนวนหนึ่งเข้าใจว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไม่ได้จัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองให้กับนักเรียนในสังกัดนั้น ขอชี้แจงว่า สพฐ. ได้กำหนดให้นักเรียนทุกช่วงวัยได้เรียนวิชาดังกล่าวในหลักสูตรอยู่แล้ว โดยกำหนดไว้ในกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ซึ่งในกลุ่มสาระดังกล่าวได้กำหนดวิชาประวัติศาสตร์ไว้เป็นการเฉพาะ โดยให้เรียนตั้งแต่ชั้น ป.1 จนถึงม.6 ซึ่งได้เพิ่มชั่วโมงการเรียนขึ้นไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา 120 ชั่วโมง จนถึง 240 ชั่วโมงในระดับที่สูงขึ้น โดยสรุปคือ วิชาประวัติศาสตร์ได้ถูกกำหนดไว้อยู่ในหลักสูตรชัดเจน รวมถึงกำหนดเวลาเรียนและการลงตารางเรียนก็ให้โรงเรียนกำหนดไว้อย่างชัดเจน ในส่วนวิชาหน้าที่พลเมือง ถึงแม้จะอยู่ในสาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ก็ได้กำหนดชั่วโมงเรียนให้นักเรียนได้เรียนในส่วนของหน้าที่พลเมืองที่นักเรียนต้องปฏิบัติ เริ่มตั้งแต่เรียนรู้รัฐธรรมนูญ การปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นต้น อีกทั้ง สพฐ. ยังส่งเสริมให้ทุกโรงเรียนมีวิธีจัดการเรียนการสอนที่คำนึงถึงประวัติศาสตร์ชุมชน ประวัติศาสตร์ใกล้ตัว และประวัติศาสตร์ชาติ รวมถึงประวัติศาสตร์ของภูมิศาสตร์ สังคมในภูมิภาคและของโลก ซึ่งในรูปแบบการจัดการเรียนการสอนจะเน้นให้นักเรียนได้เรียนอย่างหลากหลายวิธี เช่น จับกลุ่มในเชิงค้นคว้าวิจัย มีการอภิปราย ตั้งประเด็นคำถามให้นักเรียนสืบค้น รวมถึงการแสดงละครต่างๆ หรือเรียนนอกสถานที่ ซึ่งสามารถบูรณาการเข้ากับการพานักเรียนไปยังแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะวิชาหน้าที่พลเมืองต้องปลูกฝังให้นักเรียนรู้จักหน้าที่ตนเอง หน้าที่ต่อครอบครัว หน้าที่ต่อสังคม และหน้าที่ต่อประเทศชาติ โดยจะเน้นการปฏิบัติควบคู่ไปกับการเรียนด้วย นอกจากนั้น ในด้านสื่อการเรียนการสอน สพฐ.ส่งเสริมให้มีการผลิตหนังสือเรียนจากทั้งภาครัฐและเอกชน และส่งเสริมให้ผลิตสื่อที่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ โดยมอบหมายสำนักพัฒนานวัตกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน พัฒนาสื่อการเรียนรู้ในลักษณะคลิปวิดีโอเรื่องสั้น 10 เรื่อง ที่มีเนื้อหาส่งเสริมการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ อีกทั้งมีการนำเทคโนโลยีภาพเสมือนจริง (Augmented Reality : AR) เข้ามาใช้ในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สพฐ. กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ในการผลิตสื่อ โดย สพฐ. จะนำสื่อเหล่านี้ลงสู่สถานศึกษา เพื่อให้โรงเรียนต่างๆ เลือกนำไปใช้ พร้อมทั้งรวบรวมเอาไว้ในช่องทาง OBEC Channel เพื่อให้โรงเรียนดึงไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนของตัวเองได้ “ทั้งนี้ ในปีการศึกษา 2564 ที่กำลังจะถึง สพฐ. จะรณรงค์ส่งเสริมให้ทุกโรงเรียนให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง รวมถึงด้านคุณธรรมจริยธรรมให้เข้มข้นมากขึ้น เพราะมองว่าหากเด็กมีความเก่งและความดีไปพร้อมกัน ก็จะเป็นประโยชน์กับสังคมและประเทศชาติมากยิ่งขึ้น” เลขาฯกพฐ. กล่าว