กรมหม่อนไหม ใช้ประโยชน์ของเสียจากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ตามแนวคิด Zero Waste  พัฒนาการทำปุ๋ยหมักมูลไหมร่วมกับเชื้อไมคอร์ไรซา ช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิตใบหม่อน มุ่งขยายผลถ่ายทอดสู่เกษตรกรหม่อนไหมทั่วประเทศ            เมื่อวันที่ 9 มี.ค. นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า การใช้ปุ๋ยหมักเป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุให้แก่ดิน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดินได้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ก็สามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ ซึ่งปัจจุบัน การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม มีการนำมูลไหมซึ่งเป็นของเสียที่ได้จากการเลี้ยงไหมมาใช้ทำปุ๋ยหมัก ตามแนวคิดการทำให้ขยะเหลือน้อยที่สุด หรือเท่ากับศูนย์ จนไม่มีขยะเหลือเป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิผล (Zero Waste) เดิมมีวิธีกำจัดมูลไหมรวมทั้งเศษใบและกิ่งหม่อนที่เหลือทิ้ง ด้วยการนำมูลไหมและเศษเหลือทิ้งไปใส่ต้นหม่อนโดยตรง หรือนำมูลไหมและเศษเหลือทิ้งไปตาก 1-2 แดด แล้วนำไปใส่ต้นหม่อน ซึ่งวิธีดังกล่าวทำให้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคของหนอนไหม เพราะมูลไหมและเศษเหลือทิ้งอาจเป็นพาหะของโรคของหนอนไหมที่ติดมาจากโรงเลี้ยงได้ เช่น โรคซอตโต้ (เชื้อแบคทีเรีย) โรคเกรสเซอรี่ (เชื้อไวรัส) โรคมัสคาดีน (เชื้อรา) เป็นต้น            เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว กรมหม่อนไหม จึงได้ทดลองผลิตปุ๋ยหมักมูลไหมร่วมกับเชื้อไมคอร์ไรซ ซึ่งเป็นเชื้อราชีวภาพที่มีคุณสมบัติเฉพาะที่ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของพืชในการเพิ่มผลผลิตใบหม่อน  และเมื่อนำปุ๋ยหมักที่ทดลองนี้ไปใช้ในแปลงหม่อนสาธิต โดยนำไปใส่รอบ ๆ ทรงพุ่ม หลังการตัดแต่งกิ่งหม่อน ในอัตราส่วน 1 ตัน/ไร่/ปี  พบว่ามีผลผลิตใบหม่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 37 ลดต้นทุนการผลิตได้ถึงร้อยละ 27 และจากการวิเคราะห์ปุ๋ยหมักมูลไหม ปรากฏว่า มีไนโตรเจน ร้อยละ 0.95 ฟอสฟอรัสร้อยละ 0.5 โพแทสเซียม ร้อยละ 0.86 และอินทรีย์วัตถุ ร้อยละ 28.69 สามารถใช้เป็นวัตถุดิบแทนปุ๋ยคอกในการทำปุ๋ยหมักได้เป็นอย่างดี            ทั้งนี้ กรมหม่อนไหมได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวให้กับเกษตรกร โดยนำร่องในจังหวัดเชียงราย เลย ชัยภูมิ ลพบุรี และศรีสะเกษ และมีแผนพัฒนาขยายผลให้ครอบคลุมศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทั้ง 21 ศูนย์ทั่วประเทศ ภายในปี 2565 รวมทั้งพัฒนาต่อยอดทางการค้า โดยให้จุดถ่ายทอดเทคโนโลยีแปลงสาธิตและเกษตรกรในชุมชนร่วมกันผลิตปุ๋ยหมักมูลไหมนี้เป็นสินค้า บรรจุถุง 2 ขนาด คือ ขนาด 2 กิโลกรัม และขนาด 10 กิโลกรัม เพื่อนำไปจำหน่ายต่อไป             “วิธีการดังกล่าวนอกจากจะช่วยลดขยะซึ่งเป็นของเสียจากการเลี้ยงไหม ให้สภาวะสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ดีขึ้น ช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิตใบหม่อนแล้ว ยังช่วยส่งเสริมอาชีพเพิ่มรายได้ครัวเรือนของเกษตรกรและชุมชนให้มีเศรษฐกิจที่ดีและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น บรรลุเป้าหมายตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเชื่อมโยงกับเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติด้วย” อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าว  ​            เกษตรกรที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมหม่อนไหม โทรศัพท์ 0 2558 7924-6 ต่อ 402 หรือติดต่อขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวได้ที่​ สำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เขต 1-6 หรือศูนย์หม่อนไหมเครือข่ายใกล้บ้าน