สหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์ ส่งเสริมกลุ่มอาชีพประชาชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี รวมเป็นกลุ่มอาชีพ ผลิตสินค้า ผลิตภัณฑ์จำหน่าย สร้างรายได้ ให้ครอบครัว วันนี้ (8 มี.ค.2564) สำนักงานสหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์ จัดอบรมพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานกลุ่มอาชีพประชาชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ให้กับสมาชิกกลุ่มอาชีพตามพระราชดำริ จำนวน 20 คน โดยมีนางฉันทนา ฤทธิ์ไธสง ผู้อำนวยการกลุ่มจัดตั้งและส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ เข้าร่วม ที่ศูนย์การเรียนรู้นอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยบ้านโนนตะคร้อ อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้าง และพัฒนาประสิทธิภาพของกลุ่มอาชีพประชาชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริฯ เพื่อพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานกลุ่มอาชีพตามพระราชดำริ เพื่อให้กลุ่มสามารถปฏิบัติงานในด้านต่าง ๆ ได้ดีตามความต้องการของกลุ่ม และทำให้กลุ่มมีความเจริญก้าวหน้าต่อไป โดยได้เชิญวิทยากรจากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ บุรีรัมย์ มาให้ความรู้ด้านการรวมกลุ่ม การสหกรณ์ การจัดทำแผนการดำเนินการ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ทอผ้าไหม และการตลาด นางฉันทนา ฤทธิ์ไธสง ผู้อำนวยการกลุ่มจัดตั้งและส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า การพัฒนากลุ่มอาชีพประชาชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนรวมกลุ่มกันประกอบอาชีพเสริม ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีความมั่นคงทางรายได้ สามารถพึ่งตนเองได้ มีความรู้ ความสามารถที่จะสร้างความก้าวหน้าให้แก่ตนเอง ส่งผลให้ครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้ง ยังเป็นการพัฒนาศักยภาพทางการตลาดในด้านการผลิตการบริหารจัดการกลุ่ม และมีจิตสำนึกในการทำงานร่วมกันเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม ร่วมทั้งสนองงานโครงการตามพระราชดำริฯ ซึ่ง กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้สนับสนุน และร่วมพัฒนา การดำเนินงานของกลุ่มอาชีพประชาชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ ในด้านต่าง ๆ ตามความต้องการของกลุ่ม เพื่อให้ประชาชนในถิ่นทุรกันดารรวมกันเป็นกลุ่มอาชีพ ผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของกลุ่มขึ้นมาเพื่อจำหน่าย ทำให้ครอบครัวมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถพึ่งตนเองได้ มีความมั่นคงทางรายได้ มีความรู้ความสามารถที่จะสร้างความก้าวหน้าให้แก่ตนเอง ส่งผลให้ครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งให้เกิดความร่วมมือการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เกิดทักษะในการใช้กระบวนการการแก้ไขปัญหาในการดำเนินงานและสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้อีกด้วย