โดย7วันแรกฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์91% คาด สัปดาห์ที่2 เตรียมฉีดให้กลุ่มอาชีพเสี่ยงสัมผัสผู้ติดเชื้ออีก 2,568ราย จากนั้นเริ่มฉีดให้กับประชาชน
8 มี.ค.64 ที่ศาลาว่าการกทม.พล.ต.ท โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงผลการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับแนวทางการรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของกรุงเทพหานคร ว่า แนวทางหลักในการบริหารจัดการวัคซีนของกรุงเทพมหานครเน้นวัตถุประสงค์เพื่อลดความรุนแรงและเสียชีวิต รวมถึงปกป้องระบบสุขภาพของกรุงเทพมหานคร ให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถทำงานได้ รักษาผู้ป่วยได้ กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เสี่ยงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดโดยให้วัคซีน 6 เขตที่ติดการจังหวัดสมุทรสาครก่อน ยืนยันว่าการจัดการเรื่องวัคซีนยึดหลักความโปร่งใส มีความเท่าเทียมกันไม่แบ่งแยกเพศ ชาย-หญิง หรือแย่งแยกผู้ป่วยในโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน การจัดลำดับการฉีดวัคซีนผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง จะเรียงตามอายุจากมากไปหาน้อย แบ่งเป็นกลุ่มอายุลดหลั่นลงมาตามลำดับ ได้แก่ อายุ 59ปี 10เดือน - 55 ปี , อายุ 54 ปี - 50 ปี , อายุ 49 ปี -45 ปี
พล.ต.ท โสภณ ยืนยันว่าการฉีดวัคซีนของกรุงเทพมหานครไม่ได้ล่าช้าแต่อย่างใดและได้ผ่านสัปดาห์แรกที่มีเป้าหมายบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าได้ 91% ยังขาดอยู่ 200 คน หรือประมาณ 8% เป็นเพราะเหตุผลส่วนตัวเช่นติดงานหรือมีไข้ยังไม่สามารถฉีดวัคซีนได ไม่ใช่เป็นเพราะระบบบริหารจัดการ โดยการฉีดวัคซีนของกรุงเทพมหานครในระยะแรกนี้ เชื่อว่าต้องทำอย่างรอบครอบ ต้องดูถึงผลข้างเคียง จากที่ฉีดไปทั้งหมด 3,000 กว่าราย เกิดผลข้างเคียงรุนแรง 2 ราย และไม่รุนแรง 11 ราย คิดเป็น 0.4% ซึ่งถือว่าน้อยมาก อยากให้ประชาชนคลายความกังวล
ด้านร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในสัปดาห์ที่ 2 และ 3 มีเป้าหมายฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรที่มีอาชีพเสี่ยงในการสัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีจำนวน 2,568 ราย สัปดาห์ถัดไปจะฉีดไปยังกลุ่มประชาชนทั่วไป เริ่มจากผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง จากนั้นในกลุ่มที่มีอายุมากแต่ไม่มีโรค โดนจะใช้ 3 หลักการในการแจ้งประชาชนเพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีน คือ 1.ใช้ระบบ”หมอพร้อม” ในการติดต่อ 2.เดินทางไปตรวจสอบเองได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขแบะโรงพยาบาลใกล้บ้าน 3.ผู้ที่ไม่สะดวกทั้ง 2 ข้อ กรุงเทพมหานครจะส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยผู้ที่ไม่ได้รับการติดต่อ เพื่อให้รับแจ้งและเข้ารับการฉีดวัคซีนโดยสมัครใจ