มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) จัดโครงการรับประทานอาหารปลอดภัย ใส่ใจแคลอรี่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 แก่แม่ค้าที่จำหน่ายอาหารภายในมหาวิทยาลัย หวังผลิตเมนูอาหารพร้อมเสิร์ฟส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคอาหารอย่างถูกสุขลักษณะและลดปริมาณแคลอรี่สู่ผู้บริโภค ลดอัตราผู้ป่วยในอนาคต เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2564 ณ ห้องภูมิพัฒน์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโลโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี อาจารย์ปานชนม์ โชคประสิทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาสาธารณสุขชุมชน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายบริหารและจัดการทรัพย์สิน และหัวหน้าโครงการรับประทานอาหารปลอดภัย ใส่ใจแคลอรี่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีภายใต้สถานการณ์ COVID-19 เปิดเผยว่า ภายใต้สถานการณ์ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือ COVID-19 ซึ่งเป็นโรคระบาดที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในบุคคลที่มีสุขภาพร่างกายอ่อนแอ ซึ่งส่งผลกระทบทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงการรับประทานอาหารเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่มีความสําคัญต่อการดํารงชีวิตของมนุษย์ การบริโภคอาหารตามปริมาณแคลอรี่ที่ควรได้รับต่อวันเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสําคัญ เนื่องจากการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสมจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพการเกิดโรคต่างๆ ของผู้บริโภคทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ดังนั้นจึงจําเป็นต้องมีการส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคอาหารตามปริมาณแคลอรี่ เพื่อให้ทุกคนที่เข้าร่วมโครงการเกิดการรับรู้ภาวะคุกคามต่ออันตรายของการบริโภคอาหารไม่สมดุลต่อวัน โดยการรับรู้ถึงความเสี่ยงของการเกิดปัญหาสุขภาพจะนําไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ลดอัตราการเจ็บป่วยในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการดูแลบุคลากร นักศึกษา และประชาชนในเขตพื้นที่ของมหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี และนําความรู้ความเข้าใจไปใช้ประโยชน์ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในชุมชน สำหรับผู้เข้าร่วมอบรมประกอบด้วย ผู้ประกอบการอาหารรายย่อย (พ่อค้าแม่ค้า) ที่ให้บริการค้าขายอาหารในโรงอาหารของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ถือเป็นกลุ่มแกนนําด้านการบริการอาหารให้แก่บุคลากรสายวิชาการ บุคลากรสายสนับสนุน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ดังนั้น หากกลุ่มแกนนําสามารถถ่ายทอด ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ความรู้ปริมาณแคลอรี่จากอาหารของร้านตนเองให้เป็นที่ประจักษ์ต่อผู้บริโภคทุกคนได้ถือเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านสุขภาพให้กับบุคลากร นักศึกษา และประชาชนในพื้นที่ โดยมีวิทยากรจากกลุ่มงานอนามัยสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย สํานักงานสาธารณสุข จังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมถ่ายทอดความรู้ และมี ดร.พัชณิยา เอกเพชร อาจารย์ประจำสาขาวิชานวัตกรรมอาหารและโภชนาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยอาจารย์พงศ์พิพัฒน์ มากช่วย อาจารย์ประจำสาขาวิชาธุรกิจอาหาร คณะวิทยาการจัดการ ร่วมเป็นคณะดำเนินโครงการ