"นิด้าโพล"เผยผลสำรวจ 10 อันดับ"คนกรุงอยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯ กทม." ชี้ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีผู้สมัครในดวงใจ “ชัชชาติ"คะแนนมาแรงแซง"จักรทิพย์" พร้อมให้เร่งแก้ปัญหา"จราจร"อันดับ 1 ขณะที่“องอาจ” คาดเลือกตั้งผู้ว่าฯเดือน ต.ค. นี้ เผยมีคนสนใจลงสมัครในนามพรรคด้วย พร้อมแจงสรรหาผู้สมัครส.ก.คืบแล้วกว่า 80 % เมื่อวันที่ 7 มี.ค.64 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “อยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 1” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 2-3 มี.ค.64 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,315 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับประชาชนอยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 1 การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0 โดยศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” จะทำการเผยแพร่ผลสำรวจ เรื่อง “อยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯ กทม.” ทุกสัปดาห์แรกของเดือน จากการสำรวจ เมื่อถามถึงที่มาของผู้ว่าฯ กทม. ที่ประชาชนอยากได้ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 66.00 ระบุว่า ผู้ว่าฯ กทม. อิสระ รองลงมา ร้อยละ 17.11 ระบุว่า ผู้ว่าฯ กทม. ที่สังกัดพรรคการเมือง , ร้อยละ 14.30 ระบุว่า อย่างไรก็ได้ และร้อยละ 2.59 ระบุว่า ผู้ว่าฯ กทม. ที่สังกัด กลุ่มการเมือง ด้านปัญหาที่ประชาชนอยากให้ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ เร่งแก้ไขมากที่สุด พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 66.01 ระบุว่า ปัญหาการจราจร รองลงมา ร้อยละ 35.29 ระบุว่า ปัญหาค่าครองชีพ/ปากท้อง ร้อยละ 33.84 ระบุว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่นละออง น้ำเสีย ร้อยละ 31.18 ระบุว่า ปัญหา น้ำท่วม ร้อยละ 24.18 ระบุว่า ปัญหายาเสพติด อาชญากรรม มิจฉาชีพ ร้อยละ 20.15 ระบุว่า ปัญหาเรื่องขยะและ ความสะอาด ร้อยละ 20.00 ระบุว่า ปัญหาถนน/ทางเท้า ชำรุด ร้อยละ 9.20 ระบุว่า ปัญหาหาบเร่ แผงลอย ร้อยละ 8.67 ระบุว่า ปัญหาการศึกษา ร้อยละ 8.14 ระบุว่า ปัญหาสุขภาพ/สาธารณสุข ร้อยละ 5.63 ระบุว่า ปัญหาเรื่องเด็กและเยาวชน ร้อยละ 0.46 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ปัญหาไฟริมทางไม่เพียงพอ และปัญหาคนเร่ร่อน ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะเลือกให้เป็นผู้ว่าฯ กทม. พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 29.96 ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ อันดับ 2 ร้อยละ 22.43 ระบุว่าเป็น ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อันดับ 3 ร้อยละ 15.51 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อันดับ 4 ร้อยละ 7.68 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อันดับ 5 ร้อยละ 4.49 ระบุว่าเป็นผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย อันดับ 6 ร้อยละ 4.26 ระบุว่า เป็น น.ส.รสนา โตสิตระกูล และผู้สมัครจากคณะก้าวหน้า หรือพรรคก้าวไกล ในสัดส่วนที่เท่ากัน อันดับ 7 ร้อยละ 3.35 ระบุว่า เป็น ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อันดับ 8 ร้อยละ 3.27 ระบุว่า เป็น ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ อันดับ 9 ร้อยละ 2.66 ระบุว่าเป็น ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 10 ร้อยละ 1.75 ระบุว่า เป็น นายสกลธี ภัททิยกุล ร้อยละ 0.23 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ ร้อยละ 0.15 ระบุว่า ไปลงคะแนนไม่เลือกใคร (Vote NO) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ กทม. กล่าวถึง ความคืบหน้าการเลือกตั้งท้องถิ่นในส่วนของกรุงเทพมหานคร ว่า แต่เดิมจะมี 3 ส่วน คือ ผู้ว่าฯ กทม. สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก. และสมาชิกสภาเขต หรือ ส.ข. แต่เลือกตั้งครั้งนี้ น่าเสียดายที่จะมีเฉพาะผู้ว่าฯ กทม. กับ ส.ก. เท่านั้น เหตุเพราะในช่วงที่มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือ สนช. ได้ออกกฎหมายไม่ให้เลือกตั้ง ส.ข. จนกว่าจะแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม. ให้สอดคล้องการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ ตอนนี้จึงต้องเว้นวรรคไป ตนจึงอยากเรียกร้องนายกฯ ทบทวนให้มีการเลือกตั้ง ส.ข.เหมือนเดิม หรือให้ครม. เป็นผู้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.ให้เลือกตั้ง ส.ข. ได้ เพราะ ส.ข. ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด นายองอาจ ระบุอีกว่า หากไม่มี ส.ข. ตอนนี้จะมีประชาคมเขตแทน โดยอำนาจ ผอ.เขตแต่คนที่มาจากการแต่งตั้งจะไม่คำนึงความรู้สึกของประชาชน เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง สำหรับการเลือกตั้ง ผู้ว่า กทมฯ และ ส.ก. ถ้าดูจากไทม์ไลน์น่าจะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้เตรียมพร้อมทั้งนโยบายบริหาร กทม. สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้วยการรับฟังความคิดเห็นรูปแบบต่างๆ ส่วน ส.ก. ก็ได้พิจารณาผู้สนใจสมัครแล้ว ซึ่งพรรคมี ส.ก. เดิม พร้อมลงสมัคร 20 คนแต่สภา กทม. มี 50 เขต 50 ส.ก. ก็ต้องสรรหาผู้สมัครเพิ่มเติม เน้นคนหนุ่มสาวที่สนใจทำงานระดับท้องถิ่น ซึ่งขณะนี้เรียบร้อยไปแล้วกว่า 80% นายองอาจ ระบุอีกว่า สำหรับตัว ผู้ว่า กทมฯ ทางพรรค ได้ทาบทามผู้ที่มีความสนใจ มีความรู้ ความสามารถเหมาะสม รวมถึงมีคนสนใจมาสมัคร ซึ่งผ่านกระบวนการสรรหาระดับท้องถิ่นของพรรคแล้ว เหลือ 3-4 คน เมื่อถึงเวลาเหมาะสมจะประกาศตัว โดยใน 3-4 คนนี้ เป็นคนที่สังคมรู้จักในหลายแง่มุม ถ้าเอ่ยชื่อมา ประชาชนก็มั่นใจได้ พรรคไม่ได้เลือกคนดี เด่น ดังเพียงอย่างเดียว แต่คน กทม. ต้องมั่นใจว่าทำงานได้ดีในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป