ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง
"สีในสถาปัตยกรรม
พระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9"
การสร้างพระเมรุมาศบริเวณท้องสนามหลวง งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวง รัชกาลที่ 9) เป็นงานสถาปัตยกรรมชั่วคราว
องค์พระเมรุมาศ “ในหลวง รัชกาลที่ 9” เป็นพระเมรุมาศทรงบุษบกเก้ายอดบนชั้นฐานชาลาย่อมุมไม้สิบสอง ที่ขณะนี้องค์พระเมรุมาศอยู่ในช่วงระหว่างดำเนินการตกแต่งศิลปกรรม ประดับสีอาคาร และลายผ้าทองย่น
กล่าวถึงสีที่ใช้กับพระเมรุมาศในครั้งนี้ ธีรชาติ วีรยุทธานนท์ สถาปนิกชำนาญการ สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร 1 ในทีมงานสถาปัตยกรรม ให้รายละเอียดว่า การให้สีของพระเมรุมาศเป็นไปตามโบราณราชประเพณีสอดคล้องกับแนวคิดของการก่อสร้างให้พระเมรุมาศที่มีสีทองเป็นสีหลัก ตามความหมายของ “มาศ” ที่แปลว่า ทอง โดยแบ่งเป็นสีพื้นตัวอาคาร และสีลวดลายผ้าทองย่น
สีของอาคารพระเมรุมาศ จะใช้สีทองเป็นหลักร้อยละ 70 มีสีเทาเป็นสีคู่เคียงตามสีในสถาปัตยกรรมที่ก่อสร้างในรัชกาลที่ 9 แต่ภาพรวมของอาคารทั้งหมดยังคงความเป็นสีทอง และมีสีที่ช่วยเสริมขับสีทองของพระเมรุมาศโดดเด่นขึ้นด้วยลวดลายประดับผ้าทองย่นของชั้นฐานชาลาทั้ง 3 ชั้น และลายหน้าเสาพระเมรุมาศ ออกแบบโดยสำนักช่างสิบหมู่ สำหรับสีหลักที่ใช้ในการออกแบบลายศิลปกรรมผ้าทองย่นจะเน้นสีทองเป็นหลัก และใส่แววประกอบของลวดลายเป็นสีแดง สีน้ำเงิน สีเงิน สีชมพู และสีเขียว
สำหรับสีของพระเมรุมาศ แบ่งเป็นส่วนเครื่องยอด ประกอบด้วยบุษบกประธาน บุษบกหอเปลื้อง และบุษบกซ่าง ใช้งานพ่นสีแทนการใช้ผ้าทองย่นฉาบแววทั้งหมด ซึ่งต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะหากใช้การประดับผ้าทองย่นจะเกิดความเสียหายจากแดดและฝนที่ตกลงมา สำหรับกระเบื้องหลังคาเป็นสีเทามีขลิบสีทอง จากนั้นเป็นส่วนชั้นเชิงกลอน จะใช้ลวดลายผ้าทองย่นแววสีเงินเข้ามาประดับรวมถึงบุษบกหอเปลื้อง และบุษบกซ่าง แต่ต่างกันตรงที่บริเวณภายในซุ้มบันแถลงของบุษบกประธานจะประดับกระจกสีขาวรูปสามเหลี่ยม ตามรูปแบบการจัดวางซุ้มสถาปัตยกรรมรวยระกาขนาดเล็ก ส่งถึงตัวเรือนยอดเพื่อให้ตัวบุษบกประธานโดดเด่นสง่างาม จากนั้นเป็นลายประกอบหน้าเสาพระเมรุมาศ ประดับลวดลายผ้าทองย่นบนพื้นสีครีมงาช้าง
“การใช้สีเทาเป็นสีคู่เคียง เพราะเป็นสีในสถาปัตยกรรมที่ก่อสร้างในรัชกาลที่ 9 เช่นสีเทาหลังคาของวัดหลวงพ่อโสธร ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร รวมทั้งโบสถ์วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ดังนั้นงานพระเมรุมาศจึงใช้สีเทาเป็นตัวพื้น และใช้สีทองประกอบออกมา แต่ภาพรวมแล้วใช้สีทองเป็นสีหลักของตัวอาคาร ขณะที่ลวดลายที่ใช้ทั้งหมดนำสีแววต่างๆ มารวมกันเพื่อให้เกิดปฏิกิริยาของวัสดุและสีต่างๆ เมื่อโดนแสงในเวลางานพระราชพิธีกลางวันและกลางคืน
สำหรับสีที่ใช้กับพระที่นั่งทรงธรรม ศาลาลูกขุน ทับเกษตร และอาคารประกอบอื่นๆ จะเป็นสีโทนเดียวกันคือสีเทา ทอง”
‘ธีรชาติ’ สถาปนิกชำนาญการ กล่าวด้วยว่า งานประดับลวดลายผ้าทองย่นจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนที่จะมีพระราชพิธียกพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร
สีในสถาปัตยกรรม พระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9