NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ จรวด SN10 ลงจอดได้ แต่สุดท้ายก็ระเบิด จรวดทดสอบรุ่น SN10 ของ SpaceX Starship ได้ลงจอดบนพื้นโลกสำเร็จหลังเที่ยวบินทดสอบในระดับสูงเสร็จสิ้น เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2564 (ตามเวลาประเทศไทย) ถือว่าเป็นการบรรลุเป้าหมายก้าวหนึ่งของความพยายามส่งนักบินอวกาศไปสู่ดาวอังคารของบริษัท แต่ภารกิจจบลงด้วยการระเบิดของจรวดหลังลงจอดแล้ว 8 นาที บริษัทสเปซเอ็กซ์ปล่อยจรวดโลหะสแตนเลสสตีลสูง 50 เมตรลำนี้จากพื้นที่ปล่อยจรวดทางตอนใต้ของเท็กซัส เริ่มจุดเชื้อเพลิงเพื่อปล่อยตัวในเวลา 06.15 น. ตามเวลาประเทศไทย จนขึ้นไปถึงระดับความสูง 10 กิโลเมตร และร่อนลงมาลงจอดอย่างนุ่มนวลภายในระยะเวลา 6 นาที 20 วินาทีหลังจุดจรวด หลังจากจรวดทดสอบ SN10 ลงจอดบนฐานแล้ว กลับมีเปลวไฟปรากฏใกล้ฐานจรวดก่อนเกิดการระเบิดขึ้นที่ฐานจรวด ทำให้จรวดพุ่งขึ้นแล้วตกกลับลงมาที่ฐานลงจอด พังเสียหายทั้งหมด ตามแผนเดิมนั้น บริษัทสเปซเอ็กซ์มีกำหนดการปล่อยจรวดเริ่มเที่ยวบินทดสอบในเวลา 01.14 น. ตามเวลาประเทศไทย แต่เลื่อนกำหนดปล่อยออกไปหลังเริ่มจุดจรวดไม่นาน เพราะระบบคอมพิวเตอร์ของจรวดตรวจพบความผิดปกติ ก่อนบริษัทเข้าไปปรับแก้และปล่อยจรวดในช่วง 3 ชั่วโมงต่อมา เที่ยวบินของจรวดทดสอบรุ่น SN10 เป็นเที่ยวบินทดสอบในระดับสูงครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ลงจอดได้สำเร็จ เที่ยวบินของจรวดทดสอบรุ่นก่อนหน้านี้ (SN8 และ SN9) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม และ 3 กุมภาพันธ์ เป็นไปได้ด้วยดีในช่วงต้นเที่ยวบิน ก่อนจะชนฐานลงจอดระหว่างร่อนลงสู่พื้นโลกจนระเบิด จรวดสตาร์ชิปรุ่นที่ใช้งานจะมีเครื่องยนต์จรวดเชื้อเพลิงมีเทน จำนวน 6 ตัว และปัจจุบัน บริษัทสเปซเอ็กซ์กำลังดำเนินการพัฒนาและทดลองจรวดทดลองรุ่นอื่น ๆ เพื่อให้ได้จรวดรุ่นที่จะนำไปใช้งานจริง เช่น จรวดสตาร์ชิปรุ่นทดสอบรุ่นแรก ๆ มีเครื่องยนต์จรวดตัวเดียว และสามารถพุ่งขึ้นไปถึงระดับความสูง 150 เมตร จรวดทดสอบ SN8 มีเครื่องยนต์จรวด จำนวน 3 ตัว สามารถขึ้นไปถึงระดับความสูง 12.5 กิโลเมตร นับเป็นจรวดสตาร์ชิปรุ่นทดสอบรุ่นแรกที่ใช้ทดสอบเที่ยวบินในระดับสูงเหนือพื้นโลก หรือจรวดทดสอบ 3 รุ่นล่าสุด (SN8 SN9 และ SN10) มีปีกด้านข้างเพื่อการควบคุมทางอากาศพลศาสตร์เพิ่มเข้าไปด้วย บริษัทสเปซเอ็กซ์ได้พัฒนาจรวดสตาร์ชิป เพื่อบรรทุกนักบินอวกาศและสัมภาระไปดวงจันทร์และดาวอังคาร หรือทำภารกิจในอวกาศอื่น ๆ แล้วแต่ที่บริษัทได้รับการว่าจ้าง และตามแผนของบริษัทสเปซเอ็กซ์ เมื่อจรวดสตาร์ชิปใช้งานได้ดีแล้ว จะนำมาใช้งานแทนที่และยกเลิกการใช้งานจรวดฟัลคอน 9 จรวดฟัลคอลเฮฟวี ยานดราก้อนคาร์โก และยานดราก้อน (ทั้งแบบบรรทุกสัมภาระและแบบบรรทุกนักบินอวกาศ) หลังจากเที่ยวบินทดสอบครั้งนี้ บริษัทสเปซเอ็กซ์ยังมีเที่ยวบินของจรวดทดสอบรุ่นต่าง ๆ ต่อจาก SN10 รวมถึงจรวดต้นแบบของจรวดท่อนซูเปอร์เฮฟวีในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งการพัฒนา สร้างและทดสอบจรวดหลายรุ่นอย่างรวดเร็ว ทำให้บริษัทสเปซเอ็กซ์ตั้งเป้าหมายว่าจรวดสตาร์ชิปน่าจะสามารถใช้บรรทุกมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศได้ในปี ค.ศ.2023 แปลและเรียบเรียง : พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร. อ้างอิง : https://www.space.com/spacex-starship-sn10-test-launch...”