เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงาน สำนักข่าวอิศรา ได้รายงานความคืบหน้า กรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีหน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องตรวจจับสารเสพติด อาวุธ และวัตถุระเบิด รุ่น GT200 ระหว่างปี 2548-2552 เนื่องจากถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบว่าเครื่องดังกล่าว ไม่มีคุณลักษณะเฉพาะของการใช้งานอันเป็นสาระสำคัญ และบางหน่วยงานจัดซื้อในราคาที่แตกต่างกันมากนั้น โดยได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวในสำนักงาน ป.ป.ช.ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ คดีดังกล่าว ที่มีนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข กรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้บริหาร เจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโครงการจัดซื้อจัดจ้างเครื่อง GT200 ไปแล้วกว่า 200 ราย นอกจากนี้คณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ยังรวมทุกสำนวนที่เคยร้องเรียนแยกไว้มาเป็นสำนวนเดียว โดยจะตรวจดูสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐทั้งหมดด้วย
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลจาก สตง. และที่ตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า มีหน่วยงานของรัฐอย่างน้อย 10 แห่ง ได้แก่ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กรมราชองครักษ์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ สถานีตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท สำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยกองกำกับการสนับสนุนทางอากาศตำรวจตระเวนชายแดน องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สระแก้ว อบจ.สมุทรปราการ และกรมศุลกากร รวม 38 สัญญา 848 เครื่อง วงเงิน 767.106 ล้านบาท
โดยกองทัพบก เป็นหน่วยงานที่ขออนุมัติจัดซื้อมากที่สุดจำนวน 12 สัญญา จำนวน 757 เครื่อง วงเงิน 682.60 ล้านบาท ตามมาด้วย กองทัพเรือ จำนวน 8 สัญญา จำนวน 38 เครื่อง วงเงิน 39.30 ล้านบาท,กองทัพอากาศ จำนวน 7 สัญญา จำนวน 26 เครื่อง วงเงิน 20.89 ล้านบาท, กรมราชองครักษ์ 3 สัญญา 8 เครื่อง วงเงิน 9 ล้านบาท ,สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม 3 สัญญา 6 เครื่อง วงเงิน 6.80 ล้านบาท และ สถานีตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท จำนวน สัญญา 1 เครื่อง วงเงิน 550,000 บาท
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกองกำกับการสนับสนุนทางอากาศตำรวจตระเวนชายแดน จำนวน 1 สัญญา วงเงิน 1,230,000 บาท กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สระแก้ว จัดซื้อ 2 เครื่อง วงเงิน 2,380,000 บาท และ อบจ.สมุทรปราการ จัดซื้อ 3 เครื่อง วงเงิน 1,800,000 บาท กรมศุลกากร จัดซื้อจำนวน 6 เครื่อง วงเงินรวม 2,556,000 บาท ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 426,000 บาท
ขณะที่การจัดซื้อจัดจ้างส่วนใหญ่ใช้วิธีพิเศษ อาทิ วิธีพิเศษ(กรณีจัดซื้อโดยตรงจากผู้ผลิต, วิธีพิเศษกรณีเร่งด่วน , วิธีพิเศษ กรณีข้อจำกัดทางเทคนิค ต้องระบุยี่ห้อเป็นการเฉพาะ
อย่างไรก็ดีในส่วนของกรมราชองครักษ์นั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มิได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาผู้บริหาร หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด เนื่องจากมีคำพิพากษาของศาลในคดีแพ่งถึงที่สุดไปแล้วว่า กรมราชองครักษ์ชนะคดีบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ที่เป็นผู้นำเครื่องดังกล่าวมาเสนอขาย โดยศาลสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายกว่า 9 ล้านบาท