นายครรชิต สุขเสถียร รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ กองควบคุมมาตรฐานสินค้าเกษตร ได้ลงพื้นที่จังหวัดนครนายก เพื่อตรวจเยี่ยมแสงทองฟาร์ม และฟาร์มสี่ตำลึงทอง เฟส 2 ซึ่งเป็นฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ ระบบปิด ตามมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับฟาร์มไก่ไข่ เป็นมาตรฐานบังคับ พ.ศ. 2563 (มกษ. 6909-2562) เนื่องจากผ่านการตรวจสอบและเอกสารรับรอง จากกรมปศุสัตว์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีนางสาวสาวิตรี อัครนิธิยานนท์ กรรมการบริษัทแสงทองสหฟาร์มจำกัด และนางสาวชไมพร หญีตอรัญ ผู้จัดการฝ่ายควบคุมและประกันคุณภาพ ให้การต้อนรับ ณ บริษัท แสงทองฟาร์มจำกัด อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก
พร้อมกันนี้ นายครรชิต สุขเสถียร รองเลขาธิการ มกอช. ได้เยี่ยมชมฟาร์มไก่ไข่ และห้องปฏิบัติการ กระบวนการผลิต พร้อมรับฟังบรรยายสรุป ข้อมูล กระบวนการผลิตของแสงทองฟาร์ม
ทั้งนี้ ตามที่ประกาศกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่ เป็นมาตรฐานบังคับ พ.ศ.2563 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563) กำหนดให้มาตรฐานสินค้าเกษตร เลขที่ มกษ. 6909-2562 ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร : การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาฟาร์มไก่ไข่ของไทยให้เป็นที่ยอมรับยิ่งขึ้นในระดับประเทศและระหว่างประเทศ
โดยฟาร์มที่เลี้ยงไก่ไข่ ตั้งแต่จำนวน 100,000 ตัวขึ้นไป ให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปคือ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2564 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563) สำหรับฟาร์มที่เลี้ยงไก่ไข่ตั้งแต่จำนวน 1,000 ตัว ถึง 99,999 ตัว ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 5 ปี นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563)