ที่ชุมชนคุณธรรมวัดชินวราราม ศูนย์การเรียนรู้"บ้านต้นโพธิ์" ตำบลบางขะแยง อำเภอเมืองปทุมธานี เป็นชุมชนชาวไทยเชื้อสายรามัญดั้งเดิมอาศัยอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นเชื้อสายชาวมอญอพยพหนีภัยสงครามมาจากเมืองเมาะตะมะ มีชาวบ้านอาศัยอยู่มากกว่า 100 ครัวเรือน
ศูนย์การเรียนรู้"บ้านต้นโพธิ์" จังหวัดปทุมธานี แห่งนี้ เป็นโมเดล BCG เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่ในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เน้นการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากการเกษตรอินทรีย์ นำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาพัฒนาต่อยอดจากฐานความเข้มแข็งเดิมและนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่าที่สุด
ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ยังสร้างผลิตภัณฑ์ทุนวัฒนธรรมโดยนำสินค้าชุมชนที่ผลิตจากชาวบ้านโดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ คิด ทำ นำ เปลี่ยนเพื่อ ความสุขที่ยั่งยืน โดยมีนางปทุมมรัตน์ ธรรมโม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1และนางพิมสิริ กัลป์วิชา ปราชญ์ชาวบ้านเป็นหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อน
ชมการสาทิตการทำน้ำมันไพลสูตรโบราณ ที่จะช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย และยังเต็มไปด้วยสมุนไพรไทยที่ให้คุณประโยชน์หลากหลายอาทิ ไพล ขมิ้น เถาวัลย์เปรียง เถาเอ็นอ่อน ผิวมะกรูด กานพลู หนุมานประสานกาย เสลดพังพอน ผักเสี้ยนผี เพื่อทำผลิตภัณฑ์ ยาหม่องไพล น้ำมันเหลือง น้ำมันเขียว ลูกประคบ ยาหม่องไพลสด แชมพู สเปรย์ฉีดแก้เคล็ดขัดยอก
นางพิมสิริ กัลป์วิชา ปราชญ์ชาวบ้าน กล่าวว่า สมุนไพรที่นำมาทำผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ เป็นการปลูกพืชสมุนไพรของสมาชิกในชุมชนปลูกแบบอินทรีย์ มีความปลอดภัยและได้มาตรฐาน สร้างวัตถุดิบที่ชุมชนปลูกเอง ผลิตสมุนไพรที่ปลอดภัยเพื่อนำมาทำผลิตภัณฑ์ ซึ่งตอนนี้ผลิตภัณฑ์ทางสมุนไพรของบ้านต้นโพธิ์ได้รับการตอบรับอย่างดี ในเรื่องของสรรพคุณ จากลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ร่วมถึงศูนย์การค้าใหญ่อย่างฟิวเจอร์พารค์รังสิต ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ และพัฒนากลายเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมสร้างความภาคภูมิใจให้กับชุมชน
นางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี เปิดเผยว่ากระทรวงวัฒนธรรมให้ความสำคัญในการนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ โดยการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเชื่อมโยงกับเทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม ให้มีลักษณะเฉพาะตัวที่โดดเด่น เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ที่สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนและประชาชน ในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืนเป็นรูปธรรมโดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนาชีวิต สามารถนำทุนทางวัฒนธรรมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ มีผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม (CPOT) จำหน่ายมี รายได้เพิ่ม หนี้สินลดลง และพัฒนาต่อยอดกลายเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมต้อนรับนักท่องเที่ยวโดยใช้หลัก”วัฒนธรรมสรรค์สร้าง เศรษฐกิจสร้างสรรค์” เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญทางวัฒนธรรมของชาติ จากภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของบรรพบุรุษไทย โดยการอนุรักษ์ ส่งเสริม สนับสนุน และนำทุนทางวัฒนธรรมเหล่านั้น มาพัฒนาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้เกิดคุณค่า เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับทุนทางวัฒนธรรมในมิติต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการนำองค์ความรู้ทางภูมิปัญญาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ สร้างความภาคภูมิใจให้กับชุมชน ตลอดจนสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่สังคม และประเทศชาติ