ยังคงระบาดอย่างหนัก แถมกลายพันธุ์ พัฒนาเป็นสายพันธุ์ใหม่ต่างๆ จนสร้างความหวาดผวาไปทั่วโลกได้อีกต่างหาก สำหรับ “โควิด-19” หรือ “ไวรัสโคโรนา 2019” ที่กำลังอาละวาดทั่วโลก ณ เวลานี้ หลังสถานการณ์แพร่ระบาดเริ่มอุบัติขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2019 (พ.ศ. 2562) เป็นต้นมา ก่อนพ่นพิษส่งผลให้มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมทั่วโลกทะลุกว่า 115 ล้านคนไปแล้ว พร้อมกับคร่าชีวิตผู้ป่วยไปถึงเกือบ 2.6 ล้านคน ซึ่งตัวเลขทั้งผู้ป่วยติดเชื้อ และผู้ป่วยที่เสียชีวิต จากพื้นที่การแพร่ระบาดใน 219 ประเทศทั่วโลก ยังเพิ่มเติมมากขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดยั้งแต่ประการใด ด้วยประการฉะนี้ บรรดาประเทศทั้งหลาย จึงต่างขวนขวายตะกายหา “วัคซีน” เวชภัณฑ์ที่ใช้สำหรับฉีดเข้าสู่ร่างกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันการติดเชื้อโรคกันจ้าละหวั่น นอกเหนือจากการดำเนินมาตรการเข้มงวดต่างๆ ในอันที่จะควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิดฯ ไม่ว่าจะเป็นการบังคับให้สวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย การให้เว้นระยะห่างทางสังคม หรือโซเชียลดิสแทนซิง และการให้หมั่นล้างมือ เพื่อฆ่าเชื้อโรคกันบ่อยๆ เป็นต้น โดยถึง ณ ชั่วโมงนี้ ก็มีวัคซีนจากบริษัทประเทศต่างๆ ใช้รับมือกับไวรัสมรณะชนิดนี้หลายขนานด้วยกัน อาทิ “สปุตนิกไฟว์” หรือ “สปุตนิกวี” ที่วิจัยพัฒนาโดยสถาบันกามาเลยา ประเทศรัสเซีย “ไฟเซอร์” ของ “บริษํท ไฟเซอร์ อิงก์” ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่วิจัยพัฒนาร่วมกับบริษัทไบโอเอ็นเทค ประเทศเยอรมนี “โมเดอร์นา” วิจัยพัฒนาโดยบริษัทโมเดอร์นา ประเทศสหรัฐฯ “จอห์นสันแอนด์จอนห์สัน” วิจัยพัฒนาโดยบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ประเทศสหรัฐฯ “แอสตราเซเนกา” ของบริษัทแอสตราเซเนกา ประเทศอังกฤษ ที่วิจัยพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ เช่นกัน “ซิโนแวก” หรือชื่อทางการว่า “โคโรแวก” ซึ่งวิจัยพัฒนาโดยบริษัทซิโนแวกไบโอเทค ประเทศจีน “ซิโนฟาร์ม” ซึ่งวิจัยพัฒนาโดยบริษัทซิโนฟาร์ม จากประเทศจีน เช่นกัน “โควาซิน” เป็นวัคซีนที่วิจัยพัฒนาโดยบริษัทภารัตไบโอเทค ประเทศอินเดีย ทั้งนี้ การที่วัคซีนได้รับการวิจัยพัฒนาจากบรรดาบริษัทประเทศต่างๆ เช่นนี้ ก็ไม่ผิดอะไรกับการแข่งขันระดับชาติ ลากรวมไปถึงการเมือง และการทูต ระหว่างประเทศ เมื่อปรากฏว่า ทางการประเทศแม่ของบริษัทผู้วิจัยพัฒนาวัคซีนเหล่านี้ นำ “วัคซีน” ไปเป็นเครื่องมือทางการทูต รุกคืบความสัมพันธ์ ขยายอิทธิพลของตนไปยังประเทศต่างๆ ที่วัคซีนไปถึงด้วย เรียกปฏิบัติการข้างต้นนั้นว่า “การทูตวัคซีน” เฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อุษาคเนย์ ก็ใช้ชั้นเชิงสัประยุทธ์กันอย่างดุเดือด ระหว่างสองชาติพี่เบิ้มใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย นั่นคื “อินเดีย” กับ “จีนแผ่นดินใหญ่” อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า สถานการณ์ชิงชัยทางจีนแผ่นดินใหญ่ดูจะได้เปรียบเหนือแดนภารตะ ที่หมายมั่นปั้นมือว่า จะเป็นผู้ผลิตวัคซีนหมายเลขสองของโลกรองจากสหรัฐฯ อยู่หลายขุม เพราะมีหลายประเทศได้รับการแจกจ่ายวัคซีนทั้งขนานของซิโนแวกและซิโนฟาร์มจากทางการจีนแผ่นดินใหญ่ รวมทั้งประเทศไทยเราด้วย เหตุปัจจัยที่ทำให้พญามังกร สามารถแผลงฤทธิ์สยายกรงเล็บ คือ ขยายอิทธิพลด้านการทูตวัคซีน ได้ล้ำหน้าเหนือใคร ก็มาจากวัคซีนขนานของประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขนานของบริษัทเหล่าชาติตะวันตกทั้งสหรัฐฯ และเยอรมนี รวมถึงอังกฤษ มีราคาแพงกว่า การเก็บรักษายากกว่า แถมปริมาณการผลิตก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของประเทศทั้งหลาย โดยมีรายงานว่า วัคซีนขนานของชาติตะวันตกเหล่านั้น ส่วนใหญ่ไปตกอยู่กับประเทศร่ำรวย ที่มีกำลังซื้อกัน จึงเป็นโอกาสสอดแทรกของพญามังกรจีนแผ่นดินใหญ่ ที่สามารถรุกคืบขยายอิทธิพลทางการทูตผ่านวัคซีนนี้เข้าไปแม้ในดินแดนภูมิภาคยุโรปเองหลายชาติก็ยังถูกวัคซีนของจากแดนมังกรเข้าไปปักธง