"การบินไทย” สายการบินแห่งชาติ ที่เวลานี้ไม่ว่าจะให้อะไรแล้วรอดตายจากวิกฤติในครั้งนี้ได้ ก็ยอมที่จะทำทุกอย่าง เพราะจากตัวเลขของผลประกอบการประจำปี 2563 ที่ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า บริษัทมีผลประกอบการขาดทุน 141,180 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 129,163 ล้านบาท โดยเป็นขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 141,171 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 64.68 บาท
สาเหตุสำคัญที่ทำให้บริษัทขาดทุนอย่างหนักเนื่องจากปัญหาวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบทำให้รายได้จากผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้าปรับลดลงอย่างมาก ขณะที่บริษัทยังมีค่าใช้จ่ายคงที่ในระดับสูง และบริษัทยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้น เช่น การด้อยค่าเครื่องบินและทรัพย์สิน, สำรองเงินชดเชยพนักงานในโครงการร่วมใจจากองค์กร เป็นต้น
นอกจากนี้ ตลท.ได้ขึ้นเครื่องหมาย "SP" หุ้น THAI โดยหุ้นอยู่ระหว่างพิจารณาว่า บริษัทเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนหุ้น กรณีส่วนผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์หรือไม่ ทั้งนี้ ตลท. จะพิจารณาเรื่อง ดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 7 วันทำการ หรือภายในวันที่ 8 มี.ค. 2564
ทั้งนี้ที่ผ่านมาเห็นได้ว่าการบินไทยได้พยายามที่จะแก้ปัญหาขาดทุนมาโดยตลอด แต่ก็ไม่สามารถทำได้เต็มที่ โดยเฉพาะปัญหาโครงสร้างองค์กรที่ใหญ่เทอะทะ มีคนแต่ไม่มีงาน
แถมไม่สามารถปรับลดลงได้ เพราะมีเส้นสายใหญ่โต! แต่ล่าสุด!เหมือนมีฟ้าผ่าลงกลาง “การบินไทย”
หลังจากมีการจัดทำแผนฟื้นฟูฯ มีการปรับโครงสร้างใหม่ด้วยการลดจำนวนผู้บริหารจาก 740 อัตรา เหลือประมาณ 500 อัตรา อีกทั้งลดขั้นตอนการบังคับบัญชาจากเดิม 8 ระดับ เหลือ 5 ระดับ ได้แก่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ระดับ 14 ประธานเจ้าหน้าที่ (Chief of) ระดับ 12-13 ผู้อำนวยการ (Director) และกรรมการผู้จัดการ (Managing Director) ระดับ 11-12 หัวหน้าฝ่าย (Head of) ระดับ 10 และหัวหน้ากลุ่มงาน (Team Lead) ระดับ 8-9 และแบ่งออกเป็น 8 สายงาน ได้แก่ 1.สายการพาณิชย์ 2.สายปฏิบัติการ 3.สายช่าง 4.สายการเงินและการบัญชี 5.สายทรัพยากรบุคคล 6.ฝ่ายดิจิทัล 7.ฝ่ายขับเคลื่อนองค์กร 8.หน่วยธุรกิจการบิน
รวมทั้งเพิ่มหน่วยงานใหม่ 2 หน่วยงาน ได้แก่ ฝ่ายขับเคลื่อนองค์กร (Transformation) ทำหน้าที่ขับเคลื่อน ประสานเชื่อมโยงและรวบรวมความคิดริเริ่มที่มาจากพนักงาน เพื่อให้พนักงานมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนองค์กร และฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาองค์กร (Corporate Strategy & Development) เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่วางแผน กำหนดทิศทางกลยุทธ์ในภาพรวม การสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ของบริษัท และการบริหารจัดการบริษัทในเครือ
ทั้งนี้นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การบินไทยจะลดต้นทุนในทุกส่วนของธุรกิจให้มากขึ้น รวมถึงปรับการทำงานขององค์กร ออกเป็น 9 แกนหลักในการยกเครื่ององค์กร เช่น ค่าบุคลากร ที่สูงถึงปีละ 3 หมื่นล้านบาท ต้องเหลือไม่เกินปีละ 1.2 หมื่นล้านบาท หรือลดพนักงานกว่า 50% ภายใน 2 ปี และให้เหลือ 1.3-1.5 หมื่นคน คาดลดค่าใช้จ่ายรวม 5 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2565 และคาดกลับมามีกำไรปี 2568 ลดเส้นทางการบินที่ไม่มีกำไร บริการลูกค้ากลุ่มพิเศษ และลดประเภทเครื่องบินจาก 12 แบบเหลือ 5 แบบ จำนวน 86 ลำ เพื่อตัดค่าใช้จ่ายบำรุงรักษา คาดว่าเมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายดีขึ้น
ส่วนเงื่อนไขการชำระหนี้ การบินไทยจะไม่แฮร์คัตหนี้ แต่จะผ่อนจ่ายเงินต้น โดยขอยกเว้นการชำระหนี้ใน 3 ปีแรก เพราะมีปัญหาเรื่องกระแสเงินสด จะเริ่มจ่ายหนี้ในปีที่ 4 มั่นใจว่าจะได้รับความเห็นใจจากเจ้าหนี้ ส่วนกรณีที่ว่ามูลหนี้ที่เสนอศาลฯอยู่ที่ 410,000 ล้านบาท แต่การบินไทยแจ้งยอมรับหนี้ที่มีอยู่จริง 160,000-170,000 ล้านบาทนั้น เนื่องจากเจ้าหนี้มีการประเมินหนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีก 2-3 ปี ซึ่งการบินไทยมองว่าเป็นหนี้ที่ยังไม่เกิดขึ้น
นายชาย เอี่ยมศิริ รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการเงินและการบัญชี กล่าวว่า แผนสร้างรายได้ มีทั้งการเพิ่มรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน (Flight Business) และที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน (Non-Flight Business) ส่วนการลดค่าใช้จ่ายคือการปรับลดขนาดองค์กร ซึ่งวางเป้าหมายลดจำนวนพนักงานที่เป็นพนักงานสัญญาจ้าง (Outsource) พนักงานที่เกษียณหรือลาออก และพนักงานผู้เสียสละเข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กรในโครงการร่วมใจจากองค์กร MSP A จากที่เหลืออยู่ 21,000 คน ลงอีก โดยปีนี้จะมีพนักงานเข้าร่วมโครงการร่วมใจจากในโครงการ MSP B และ MSP C อีก 6,000-7,000 คน ทำให้มีพนักงานเหลือประมาณ 14,000-15,000 คนภายในสิ้นปีนี้ ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรลดเหลือ 13% จากเดิม 23%
นอกจากนั้นยังมีแผนในการลดขนาดฝูงบินและปรับลดแบบเครื่องบินจาก 12 แบบ เหลือ 5 แบบ ปรับลดแบบเครื่องยนต์จาก 9 แบบ เหลือ 4 แบบ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมการบิน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงยังได้มีการเจรจากับบริษัทที่ให้เช่าเครื่องบิน ให้ลดค่าเช่าและจ่ายเงินตามการใช้งานจริงของเครื่องบิน ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลดลงในระยะยาวกว่า 40% อย่างไรก็ตาม จากมาตรการลดต้นทุนต่างๆ มั่นใจว่า ภายในเดือน ก.ค.64 การบินไทยจะมีเงินเหลือจากการปรับลดค่าใช้จ่ายประมาณ 36,000 ล้านบาท และภายในปี 65 จะมีเงินเหลือ 58,000 ล้านบาท ซึ่งจากปัจจัยต่างๆ ประมาณการว่าการบินไทยจะกลับมาทำกำไรได้ในปี 66-67
ด้านพนักงานการบินไทยที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ โดยเฉพาะกลุ่มนักบินที่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างน่าเศร้าของ “กัปตันสนอง มิ่งเจริญ” นายกสมาคมนักบินไทย และกัปตันการบินไทย โพสต์เศร้าใจหาย "เริ่มต้นใหม่ ในวัย 50 ปี" รับนักบินการบินไทยที่ปฏิบัติงานในฝูงบินที่ไม่ได้อยู่ในแผนการฟื้นฟูฯจะได้รับผลกระทบมากที่สุดถึงจุดนี้ทำใจลำบาก
หรือ “เริ่มต้นใหม่ ในวัย 50 ปี กับ 6 แบบเครื่องบิน ตลอด 25 ปีในเส้นทางการเป็นนักบิน อาชีพที่ชอบ กับบริษัทที่ใช่ทำให้ผมไม่ได้เตรียมใจเกษียณก่อนกำหนด หลังจากบินกลับจากซิดนีย์เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2020 ทุกเที่ยวบินในตารางการทำงานของผมก็ถูกยกเลิกแม้ในใจจะแอบหวังลึกๆว่า การแพร่ระบาดของโควิดจะไม่หนักหนานักและซักวันจะได้กลับไปบินอีกครั้ง
หลังจากนี้ “การบินไทย” สายการบินแห่งชาติ จะเป็นอย่างไร??? สามารถกลับมามีชีวิตใหม่ได้อีกครั้งหรือไม่!?! ลุ้นกันยาวๆ!!!