ร.อ.ธรรมนัส พรมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางเข้ารับฟังปัญหาจากเกษตรกรและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองสังข์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ พื้นที่ตำบลกรุงหยัน อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี นายสุริยน พัชรครุกานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวรายงานสรุปเกี่ยวกับข้อมูลพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินที่ทับซ้อนอยู่ในพื้นที่เขตก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองสังข์ฯ ร.ฮ.ธรรมนัส กล่าวว่า ตนให้ความสำคัญต่อปัญหาของพี่น้องเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่เป็นอันดับแรก ตนจึงเดินทางลงมาพบปะและรับฟังปัญหาในวันนี้ สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นตนได้สั่งการให้ตั้งคณะทำงานในการแก้ไขปัญหาที่เกิดผลกระทบต่อพี่น้องทุกคน โดยมี ส.ป.ก. เป็นกลไกหลักในการทำงานจัดที่ทำกินให้กับผู้ได้รับผลกระทบในการสร้างอ่างเก็บน้ำ ในส่วนของพื้นที่ทับซ้อนระหว่างหน่วยงานรัฐต่างๆ จะต้องมาพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหากันระหว่างหน่วยงานต่อไป ตนมาในวันนี้ขอให้สบายใจได้ว่าปัญหาจะต้องจบอย่างแน่นอน สำหรับโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำดังกล่าว อยู่ในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินจำนวน 2,675 ไร่ ในโครงการป่าคลองกรุงหยัน ทับซ้อนกับพื้นที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ใช้ประโยชน์จำนวน 409 ไร่ พื้นที่ที่เกษตรกรครอบครองเข้าทำประโยชน์ได้รับผลกระทบ จำนวน 337 ราย 425 แปลง เนื้อที่ 2,266 ไร่ ประกอบไปด้วยที่ดินที่จัดที่ดินและมอบเอกสาร ส.ป.ก. 4-01 แล้วจำนวน 327 ราย 412 แปลง เนื้อที่ประมาณ 1,935ไร่ พื้นที่ยังไม่ได้จัดที่ดินมอบเอกสารสิทธิ แต่มีเกษตรกรครอบครองใช้ประโยชน์ที่ดิน จำนวน 10 ราย 13 แปลง เนื้อที่ประมาณ 47-1-71 ไร่ และพื้นที่อื่น ๆ อาทิ ถนน แหล่งน้ำ เนื้อที่ประมาณ 331-1-38 ไร่ ปัจจุบันเกษตรกรสละสิทธิการถือครองแล้วจำนวน 303 ราย 374 แปลง เนื้อที่ 1,651 ไร่ คงเหลือเกษตรกรยังไม่สละสิทธิ จำนวน 34 ราย 51 แปลง เนื้อที่ 332-2-05 ไร่ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองสังข์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรที่ได้เสด็จทอดพระเนตรบริเวณลุ่มน้ำคลองสังข์ และทรงเยี่ยมราษฎรในท้องที่อำเภอทุ่งใหญ่ เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2523 และทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทานวางแผนก่อสร้างโครงการดังกล่าว เพื่อจัดหาแหล่งน้ำให้กับราษฎรในพื้นที่อำเภอทุ่งใหญ่ได้มีแหล่งน้ำในการอุปโภค บริโภค และทำการเกษตร กรมชลประทานได้สนองพระราชดำริด้วยการก่อสร้างฝายคลองสังข์อันเนื่องมาจากพระราชดำริแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2527 และดำเนินการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำฯ บริเวณต้นน้ำเหนือฝาย ในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 ซึ่งเมื่อโครงการอ่างเก็บน้ำเสร็จสิ้น จะช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกของฝายคลองสังข์ได้ประมาณ 11,200 ไร่ เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์บริเวณท้ายโครงการประมาณ 10,800 ไร่ และสามารถช่วยบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ด้านท้ายอ่างเก็บน้ำ ซึ่งเกิดน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี