ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล มาตรวัดมิตรภาพที่ดีที่สุดคือ ความห่วงใยที่มีให้และความไม่เห็นแก่ตัว เดือนสิงหาคม ปี 2533 ดร.สุบิน ปิ่นขยัน ถูกปรับพ้นกระทรวงพาณิชย์ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการที่กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วตำแหน่งใหม่นี้ในทางการเมืองระหว่างประเทศ ถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง (ถ้าเป็นของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศใหญ่ ๆ ทั้งหลาย จะถือว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนี้มีฐานะเป็นรองแค่ประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีเท่านั้น) แต่ในกรณีของประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศเป็นได้แค่ “กระทรวงเกรดบี” คือมีแต่เกียรติและความโก้หรู แต่ไม่มีอิทธิพลหรือบารมีใด ๆ ในทางการเมือง โดยเฉพาะในเรื่องของผลประโยชน์เงินทองที่จะให้กอบโกยก็อัตคัดขาดแคลนยิ่ง ด้วยสถานะเช่นนี้จึงทำให้ต้องมีการปรับคณะรัฐมนตรี โดยที่ในยุคนั้นได้ชื่อว่าเป็นยุคของ “บุฟเฟ่ต์คาบิเนต” ที่รัฐมนตรีแต่ละคนต้องสร้างบารมีด้วยการกอบโกยความมั่งคั่งแข่งกัน เพื่อที่จะเลี้ยงดู ส.ส.ไว้ในมือ และตระเตรียมไว้เป็นเสบียงกรังในการเลือกตั้ง และ “การซื้อตำแหน่ง” ในครั้งต่อ ๆ ไป สมเกียรติมาเยี่ยมผมที่กระทรวงการต่างประเทศในเช้าวันหนึ่ง แจ้งข่าวว่ากำลังเกิดเรื่องใหญ่ที่กระทรวงพาณิชย์ เพราะรัฐมนตรีคนใหม่ที่มาแทน ดร.สุบิน กำลัง “ไล่เบี้ย” หาคนมารับผิดในเรื่องการทุจริตต่าง ๆ ในกระทรวงพาณิชย์ ให้พวกเราคอยระมัดระวังเพราะอาจจะมีภัยมาถึงตัว ทั้งนี้ข้าราชการใหญ่ ๆ กำลังเดือดร้อนกันมาก แต่ก็พยายามโบ้ยเรื่องนี้ให้ข้าราชการระดับรอง ๆ ลงไป ซึ่งสมเกียรติได้พูดถึงคนโน้นคนนี้อย่างละเอียด แม้ว่าจะมีทั้งเรื่องที่น่าเชื่อบ้างและเรื่องที่เหลือเชื่อบ้าง แต่ก็แสดงให้เห็นว่าสมเกียรติมีความห่วงใยพวกเราและรัฐมนตรีอย่างแท้จริง ทั้งยังได้เสนอแนะให้เตรียมทางหนีทีไล่ เพราะอาจจะต้องสืบสาวมาถึง ดร.สุบิน อย่างแน่นอน ซึ่งผมก็เคยได้รับฟังเรื่องเหล่านี้จากท่านรัฐมนตรีมาก่อนแล้ว ก็ไม่ได้ตกอกตกใจอะไร เพราะได้เตรียมตัวในเรื่องนี้มานานแล้ว และยิ่งมาถูกปรับให้มาอยู่ในกระทรวงใหม่ ก็ยิ่งรู้ว่าจะมีอันตรายอะไรมาถึงอีกบ้าง เพราะนี่คือวิถีที่เป็นธรรมดาของการเมือง โดยเฉพาะการเมืองไทยที่ “ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร” อย่างที่ผมเคยเล่ามาแล้วว่า กระบวนการทุจริตในกระทรวงพาณิชย์นั้นเป็นการ “ตบมือด้วยกัน” ระหว่างนักการเมืองและข้าราชการมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์นั้นแล้ว แต่ถ้าจะมองจากมุมของฝ่ายการเมืองที่มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาสั้นบ้างยาวบ้าง ก็ต้องบอกว่านักการเมืองนี้เป็นแค่ “แขนเทียม” หรือ “มือชั่วคราว” มากกว่า ในขณะที่ฝ่ายข้าราชการประจำนั้นคือ “แขนแท้” หรือ “มือประจำ” ซึ่งถ้าจะตบมือไปด้วยกันก็คงจะต้องเพ่งเล็งที่มือที่ใช้อยู่เป็นประจำนั่นเสียก่อน ซึ่งก็คือถ้าฝ่ายข้าราชการประจำไม่เล่นด้วย ต่อให้นักการเมืองจะเป็น “มือวิเศษ” มาจากไหน ก็คงจะตบมือข้างเดียวไม่ได้ แม้นักการเมืองจะมีอำนาจพิเศษที่สามารถให้คุณให้โทษแก่ข้าราชการประจำได้ แต่ข้าราชการประจำก็ไม่ใช่ “ลูกไก่” ที่นักการเมืองจะบีบคั้นเอาได้ตามใจ และปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์มาโดยตลอดว่า สุดท้ายแล้วไม่ว่าใครจะใหญ่มาจากไหน สูงสุดแค่ไหน ถ้าข้าราชการไม่เอาด้วยแล้ว ก็ยากที่จะอยู่ยั้งยั่งยืนได้ ดร.สุบิน อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ไม่ถึง 4 เดือน ก็ถูกปรับออกอีกครั้งและไม่ได้มีตำแหน่งอะไรในรัฐบาลอีกต่อไป ผมจึงต้องกลับมาทำงานที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชดังเดิม แต่รัฐบาล “รับประทานด่วน” อยู่ได้ไม่ครบเทอม ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ก็ถูกทหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ยึดอำนาจ จากนั้นก็มีคำสั่งของ รสช.ให้ยึดทรัพย์นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดก่อนหน้านั้น รวม 25 คน ว่ากันว่าส่วนใหญ่เป็นการแสดงฤทธิ์เดชของข้าราชการประจำ ที่เก็บ “ใบเสร็จ” ซึ่งก็ได้แก่ข้อมูลที่เกี่ยวกับการสั่งการในโครงการต่าง ๆ ของรัฐมนตรีหลาย ๆ คนนั้นไว้ ซึ่งคณะตรวจสอบและติดตามทรัพย์สินของ รสช. ใช้เป็นหลักฐานที่จะเอาผิดและตามยึดทรัพย์รัฐมนตรีคนนั้น ๆ ผมยังติดต่อกับสมเกียรติอยู่นาน ๆ ครั้ง เจอกันทุกครั้งสมเกียรติก็จะถามถึงทุกข์สุขของรัฐมนตรี ดร.สุบิน ด้วยความห่วงใยอย่างแท้จริง ทั้งยังให้ข้อมูลว่าใครน่าจะเป็นคนที่ให้ข้อมูลเอาผิด ดร.สุบิน ซึ่งผมก็บอกว่าท่านอโหสิและให้อภัยทุกคนแล้ว พอถึงปี 2544 ผมได้ไปเป็นที่ปรึกษาประธานกรรมการบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) อันเป็นตำแหน่งไปช่วยราชการอีกเช่นกัน โดยเพื่อนของผมที่เขาเป็นลูกชายของประธาน บสท.ตอนนั้นต้องการคนที่จะช่วยเป็น “กันชน” ให้กับพ่อของเขากับนักการเมือง เนื่องจาก บสท.ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้เสียภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ใน พ.ศ. 2540 หน้าที่หลัก ๆ คือวางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดการหนี้สินของเจ้าหนี้และลูกหนี้ และทำการเจรจาหาทางออกให้กับทั้งสองฝ่ายนั้น ซึ่งอาจจะมีการฝากฝังนักการเมืองเข้ามาขอความช่วยเหลือ ระหว่างนั้นสมเกียรติได้มาหาพบอยู่ครั้งหนึ่ง แต่ไม่ได้มาขอความช่วยเหลืออะไร เพียงแต่มาเยี่ยมเยียนในฐานะ “เพื่อนเก่า” แล้วก็พาผมไปรับประทานอาหารจีนร้านดังริมคลองประปา โดยไม่มีวี่แววอะไรสักนิดว่าเขาได้ประสบปัญหาวิกฤติต้มยำกุ้งจนต้องหนีเจ้าหนี้หัวซุกหัวซุนไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน แล้วนี่เขาก็กลับมาพร้อมกับการกอบกู้ธุรกิจเดิมของเขา โดยไปหาหยิบยืมเงินทองจากผู้คนที่เคยติดต่อทำธุรกิจกัน แล้วไปลงทุนขายสินค้าเกษตรอีกครั้ง ผมทราบจากเพื่อนอีกคนของเขาว่า ในช่วงสมัยปกครองของ รสช. เขาได้รับการติดต่อจากนายทหารบางคนให้ช่วยจัดตั้งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เพราะเป็นช่วงที่สินทรัพย์ต่าง ๆ โดยเฉพาะบ้าน อาคาร และทีดิน มีราคาดีมาก ทั้งที่เป็นแค่ภาพลวงตาที่เรียกว่า “ฟองสบู่” ด้วยความที่เป็นคนทำอะไรทำจริง สมเกียรติก็ทุ่มเทให้กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นั้นอย่างสุดตัว และก็ไปได้ดีในระยะแรก แต่ต่อมาอีกไม่กี่ปีฟองสบู่นั้นก็แตก เป็น “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ดังกล่าว แต่ก็ยังดีที่นายทหารคนนั้นได้ช่วยให้เขาไปอยู่ในที่ปลอดภัย และช่วยเหลือให้กลับเข้ามาในประเทศในที่สุด ตอนช่วงที่ผมเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติใน พ.ศ. 2549 สมเกียรติก็ได้มาเยี่ยมผมอยู่ 2-3 ครั้ง ส่วนหนึ่งเป็นการพบปะในหน้าที่การงาน เพราะผมเป็นกรรมาธิการในกฎหมายการค้าบางฉบับ ซึ่งสมเกียรติก็ได้มาในฐานะที่ปรึกษาของกรรมาธิการที่เป็นนายทหารบางคน โดยเขาก็ได้เข้ามาทักทายและพูดคุยกับผมอย่างสนิทสนมเป็นปกติ พอผมจะขอนัดเลี้ยงข้าวเขา เขายิ้มแล้วก็บอกว่า อย่าเลย เดี๋ยวเพื่อนทหารของเขาจะเคืองเพราะผมชอบให้สัมภาษณ์กระทบทหาร แต่ถ้าถูกทหารรังแกเมื่อไหร่ให้บอกเขา เขายินดีให้ความช่วยเหลือ ก่อนที่จะพูดคำคมที่ผมจำได้ติดหูว่า “ทหารไม่เหมือนนักการเมือง ไม่ชอบพูดมาก แต่ชอบรัฐประหารมาก ๆ” ก่อนที่จะหัวเราะดัง ๆ แล้วพูดทิ้งท้ายว่า “ถ้าสู้เขา(ทหาร)ไม่ได้ ก็ยอมเป็นพวกเขาเสียดีกว่า” มิตรแท้ก็ยังเป็นมิตรแท้วันยังค่ำ ห่วงใยกันเสมอไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด