เพจ "สื่อศาล" โพสต์ข้อมูลภาพระบุว่า ... "เจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยเกินอัตราเป็นโมฆะ" ดอกไม้อาจต้องใช้ปุ๋ยและรดน้ำพรวนดินจึงจะออกมาให้เห็น แต่เมื่อเป็น “ดอกเบี้ย” แล้วงอกงามผลิดอกออกผลได้ทุกฤดูกาล โดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยหรือรดน้ำใด ๆ อีก แต่การคิดดอกเบี้ยก็คงต้องมีกรอบและขอบเขตด้วย หากคิดกันแบบมหาโหดเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแล้วย่อมจะทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ว่าการตกลงกันแบบนั้นจะมีผลมากน้อยเพียงใด และปัญหาที่สำคัญที่เราจะมาคุยกันคือแล้วหากลูกหนี้เกิดชำระหนี้ไปตามยอดหรืออัตราดอกเบี้ยที่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้แล้วจะมีผลอย่างไร ลูกหนี้จะเรียกเงินที่ชำระไปนั้นคืนได้หรือไม่ หรือเจ้าหนี้จะต้องทำอย่างไรกับเงินที่ลูกหนี้ชำระเป็นค่าดอกเบี้ยที่เกินอัตรามานั้น ก่อนที่เราจะลงไปในรายละเอียด คงต้องทำความเข้าใจกันเบื้องต้นก่อนว่าที่บอกว่าคิดดอกเบี้ยเกินอัตรานั้นต้องดูเป็นรายกรณีไปด้วยว่าคนที่เขาให้กู้ยืมเงินมานั้นเป็นใคร เพราะอัตราดอกเบี้ยที่เจ้าหนี้จะคิดได้ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าหนี้นั้นเป็นเจ้าหนี้ประเภทใด เพราะหากเป็นกรณีของสถาบันการเงินแล้วจะมีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะที่ทำให้คิดดอกเบี้ยได้มากกว่าคนธรรมดาให้กู้ และขึ้นอยู่กับประเภทของเงินกู้แต่ละชนิดด้วย แต่กรณีที่กำลังจะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นเรื่องที่บุคคลธรรมดาให้กู้ยืมเงินกัน เรื่องราวในตอนนี้สมมติอีกเช่นเคยว่านางยิ้มไปกู้ยืมเงินจากนายแย้มเป็นเงิน 200,000 บาท นายแย้มคิดดอกเบี้ยจากนางยิ้มในอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน ต่อมานางยิ้มไม่จ่ายเงินคืนให้นายแย้มตามที่ตกลงกัน นายแย้มจึงมาฟ้องเรียกร้องให้นางยิ้มชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยแก่ตน ก่อนหน้าที่นายแย้มจะมาฟ้องคดี นางยิ้มได้เคยชำระเงินคืนให้แก่นายแย้มไปบ้างแล้วแต่เนื่องจากดอกเบี้ยอัตราสูงมาก เงินที่นางยิ้มจ่ายไปร่วม 100,000 บาทจึงถูกนายแย้มนำไปหักชำระเป็นดอกเบี้ยเท่านั้น กรณีที่บุคคลธรรมดาให้กู้ยืมเงินกันนี้ กฎหมายกำหนดให้คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปีเท่านั้น การคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดความจริงมีโทษทางอาญาอยู่ด้วย กฎหมายปัจจุบันคือ พรบ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราพ.ศ.2560 ซึ่งมีโทษจำคุกได้ถึง 2 ปี หรือปรับ 200,000 บาท แต่ผลของการที่กำหนดโทษทางอาญาไว้ดังกล่าว ทำให้ถือว่ากฎหมายที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้เป็นเรื่องสำคัญ การที่เจ้าหนี้ไปคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายในเรื่องที่สำคัญเช่นกัน ข้อตกลงที่ให้คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กำหนดไว้จึงถือว่าเป็นข้อตกลงที่เป็น “โมฆะ” ซึ่งทำความเข้าใจได้ง่าย ๆ ว่าแม้จะตกลงกำหนดไว้ แต่ในทางกฎหมายแล้วถือเสมือนว่าข้อตกลงนั้นไม่เคยเกิดมีขึ้นมาเลย คือไม่มีผลบังคับทางกฎหมายใดๆ นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ ข้อตกลงที่นายแย้มคิดดอกเบี้ยจากนางยิ้มในอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือนจึงเห็นได้ชัดว่าเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แน่ ๆ ผลคือข้อตกลงนี้ย่อมเป็น “โมฆะ” ไปดังที่กล่าวถึง ทำให้นายแย้มไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเงินกู้จากนางยิ้มได้ยกเว้นแต่เป็นดอกเบี้ยผิดนัดที่เป็นอีกกรณีหนึ่ง หากนายแย้มมาฟ้องเรียกร้องให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือนก็ย่อมไม่สามารถทำได้ แต่ปัญหาสำคัญของเรื่องนี้คือแล้วเงินที่นางยิ้มชำระไปแล้ว 100,000 บาท ซึ่งนายแย้มเอาไปหักดอกเบี้ยจะทำอย่างไร การชำระดังกล่าวจะมีผลเพียงใด สำหรับเงินจำนวนนี้ นางยิ้มอาจจะไม่สามารถเรียกร้องคืนเอาจากนายแย้มได้ เพราะตามปกติของการชำระเงินให้ใครไปโดยที่เป็นหนี้ที่ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายก็จะไม่สามารถเรียกร้องคืนมาได้ แต่เมื่อได้กล่าวไปแล้วว่านายแย้มเองก็ไม่มีสิทธิได้รับชำระดอกเบี้ยที่ตนเองคิดเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไปด้วย แต่ที่ผ่านมานายแย้มรับชำระเงินจากนางยิ้มแล้วเอาไปหักชำระดอกเบี้ยที่ฝ่าฝืนกฎหมายนั้นมาโดยตลอด ที่ควรจะเป็นคือนายแย้มต้องเอาเงิน 100,000 บาท ที่นางยิ้มชำระมาไปหักชำระต้นเงินกู้ที่ค้างอยู่แทน เหลือยอดต้นเงินกู้เท่าใดจึงจะเป็นยอดที่นายแย้มมีสิทธิฟ้องเรียกคืนจากนางยิ้มได้ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่านางยิ้มเองจะหลุดพ้นไม่ต้องชำระดอกเบี้ยใด ๆ ให้แก่นายแย้ม เพราะหากสมมติว่าสัญญากู้ดังกล่าวกำหนดให้นางยิ้มต้องคืนเงินทั้งหมดภายในวันที่ 31 ธันวาคม ของปีที่ผ่านมา เมื่อครบกำหนดแล้วไม่ชำระ นางยิ้มจะกลายเป็นลูกหนี้ที่ “ผิดนัด” ชำระหนี้ นายแย้มในฐานะเจ้าหนี้จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดได้ แต่จะเป็นอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และไม่ได้คิดตั้งแต่วันที่ให้กู้ยืมไปเหมือนดอกเบี้ยเงินกู้ปกติ แต่ต้องคิดตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาซึ่งก็คือวันที่ 31 ธันวาคม เป็นต้นไป การคิดดอกเบี้ยเป็นเรื่องปกติของการกู้หนี้ยืมสินเพราะเงินย่อมมีค่าหากไม่ให้กู้ยืมไปเจ้าหนี้อาจไปหาผลประโยชน์ทางอื่นให้งอกงามได้เช่นกัน เมื่อลูกหนี้ต้องการกู้ยืมจึงจำเป็นต้องให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่เจ้าหนี้ด้วยเช่นกัน แต่ผลประโยชน์ที่เจ้าหนี้จะเรียกก็ต้องพอเหมาะพอสมด้วย ไม่ใช่เห็นคนเดือดร้อนต้องการใช้เงินมาก็ถือโอกาสขูดรีดเอาจากความเดือดร้อนของคนที่เป็นลูกหนี้จนไม่ต้องโงหัวกันหากต้องใช้ดอกเบี้ยในอัตราที่สูงลิบลิ่ว หากมีการคิดดอกเบี้ยกันแบบนั้น ข้อตกลงที่คิดดอกเบี้นเกินที่กฎหมายกำหนดจะตกเป็นโมฆะไป หากลูกหนี้ชำระดอกเบี้ยอัตราที่ฝ่าฝืนกฎหมายไปเท่าใด แม้ลูกหนี้จะเรียกเงินนั้นคืนไม่ได้ แต่เจ้าหนี้ก็ต้องเอาไปหักชำระเงินต้นให้แก่ลูกหนี้ด้วยจึงจะเป็นธรรม (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5056/2562) ขอบคุณข้อมูลและภาพ - เพจ สื่อศาล