ร่วมสมัย : ยังคงมุ่งมั่นส่งเสริมผ้าบาติกแนวร่วมสมัยพื้นถิ่นแดนใต้อย่างต่อเนื่อง
โครงการประกวดออกแบบเครื่องแต่งกาย “ผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้” ภายใต้แนวคิด Batik City โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย(สศร.) ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนใต้ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า สานต่อกิจกรรมการประกวดออกแบบผ้าไทยชายแดนใต้ โดยมี นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม เปิดกิจกรรมเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว
ปีนี้ตั้งโจทย์ในการสร้างสรรค์และพัฒนาผ้าบาติก หรือผ้าพื้นถิ่นแดนใต้ ซึ่งมีองค์ความรู้มีเอกลักษณ์ และถ่ายทอดฝีมือศิลปวัฒนธรรมชุมชนของพื้นที่ชายแดนใต้ให้มีความร่วมสมัย สามารถสวมใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน และสามารถสร้างเม็ดเงินให้กับชุมชน โดยเชิญชวนนักออกแบบเครื่องแต่งกายส่งผลงานเข้าร่วมประกวด ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ถึง 22 มีนาคม 2564 สามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.ocac.go.th ทั้งนี้ สศร.ได้เชิญดีไซเนอร์ชื่อดังของประเทศมาให้ความรู้ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนในการพัฒนาลวดลายผ้า ตลอดจนนำนักออกแบบผลิตภัณฑ์ไปร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผ้าท้องถิ่น ด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบและจัดเวิร์กช้อปให้คนในพื้นที่ได้ลงมือผลิตชิ้นงานได้เอง โดยปัจจุบันมีชิ้นงานที่สืบเนื่องจากโครงการดังกล่าวมากกว่า 200 ผลงาน สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้แก่ผ้าท้องถิ่นมากกว่า 40% และนำออกขายในต่างประเทศมียอดจำหน่ายทะยานสู่หลักร้อยล้านบาท
ดร.วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้อำนวยการสศร. กล่าวว่า สศร.ได้พัฒนาบุคลากรในสาขาการออกแบบเครื่องแต่งกายที่ได้ดำเนินการร่วมกับชุมชน โดยมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาลวดลายผ้า การพัฒนารูปแบบการออกแบบให้ผ้าไทยสามารถเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและเข้าถึงได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงการปรับรูปแบบการใช้ผ้าให้มีการใช้งานที่มากกว่าการเป็นเครื่องนุ่งห่ม เพื่อให้มีความร่วมสมัย สวยงาม ทั้งยังส่งเสริมให้นักออกแบบรุ่นใหม่สืบสานวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น ส่งผลให้ชุมชนผู้ผลิตผ้ามีรายได้ที่เพิ่มขึ้น และเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ
“ในปีงบประมาณ 2564 นอกจากการประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายร่วมสมัยชายแดนใต้ ที่นำผ้าในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มาเป็นโจทย์ในการแข่งขันแล้ว สศร.ยังมีโครงการพัฒนาเครื่องแต่งกายและผลิตภัณฑ์จากผ้าไทยของชุมชนในพื้นที่ 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง และโครงการพัฒนาการออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัย และจะนำดีไซน์เนอร์จับคู่กับชุมชนผู้ผลิตผ้าใน 4 จังหวัด 4 ภูมิภาค ให้มีการสร้างสรรค์งานร่วมกัน โดยมุ่งหวังให้ชุมชนได้เรียนรู้และสร้างทักษะในการสร้างสรรค์งานเพื่อเพิ่มรายได้”
ด้าน นายธีระ ฉันทสวัสดิ์ คณะกรรมการโครงการประกวดออกแบบฯ กล่าวว่า ตนได้ลงพื้นที่ไปพัฒนาลวดลายผ้าของชาวจ.ยะลา และปัตตานี โดยมีแนวคิดปรับเปลี่ยนลายผ้าบาติกที่มีแค่ดอกไม้ และสื่อถึงทะเล แต่ทำให้เป็นลวดลายนามธรรมมากขึ้น นำเทรนด์สีไปผนวกกับลวดลายผ้ามีสีสัน และใช้เทคนิคการปักเพิ่ม หรือผสมผสานผ้าชนิดอื่นๆ ไปด้วย จะทำให้ผ้ามีมูลค่า ทำให้ผู้ประกอบการมีมุมมองกว้างขึ้น สามารถขยายฐานการผลิตและสร้างยอดขายผ้าให้มีราคาสูงขึ้นหลายเท่าตัว จากนั้นชาวบ้านก็สามารถนำความรู้ไปพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ด้วย
Batik City ผ้าพื้นถิ่นร่วมสมัย สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชนแดนใต้