เข้าหน้าร้อน แน่นอนว่าโรคหนึ่งที่คู่กับหน้านี้คือ อาหารเป็นพิษ และหนึ่งในยาที่มักมีการใช้กันเมื่อมีอาการท้องเสียคือ ยาคาร์บอน
เพจ FDA THAI ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีคำแนะนำสำหรับยาคาร์บอน ใช้อย่างไรให้ถูกวิธีได้ประสิทธิผลดี โดยระบุ ยาคาร์บอน (Activated Carbon) เป็นยาที่อาจใช้ดูดซับสารพิษเพื่อบรรเทาอาการท้องเสียได้ แต่ยาตัวนี้ไม่ได้มีผลฆ่าเชื้อโรคที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย และไม่สามารถใช้เป็นยาหยุดถ่าย จากผลของฤทธิ์ในเรื่องของการดูดซับจึงทำให้การกินยานี้อาจไปดูดซับและส่งผลต่อระดับยาอื่น ๆ ที่กินอยู่ได้
การกินยาตัวนี้จะกินอย่างไรเพื่อไม่ทำให้ส่งผลรบกวนการออกฤทธิ์ของยาตัวอื่นนั้น แต่ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับอาการท้องเสียกันก่อน อาการท้องเสีย คือ การที่ถ่ายอุจจาระเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป หรือถ่ายเป็นมูกเลือดตั้งแต่ 1 ครั้งขึ้นไป ภายใน 24 ชั่วโมง
โดยทั่วไปแล้วหากมีอาการท้องเสีย แนะนำให้ผู้ที่เป็นค่อย ๆ จิบสารละลายเกลือแร่(Oral Rehydration Salts, ORS)เพื่อป้องกันอาการขาดน้ำและเกลือแร่ที่เสียไป หรือหากบางคนต้องการกินยาถ่านคาร์บอน(Activated Carbon) ควรเว้นระยะห่าง 2 ชั่วโมงจากการรับประทานยาชนิดอื่น
เพราะหากไม่เว้นระยะห่าง ยาถ่านคาร์บอนอาจไปรบกวนการดูดซึมยาตัวอื่น ทำให้ยาตัวอื่นที่เรากินเข้าไปออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ หรือไม่มีผลในการรักษาเลยก็เป็นได้
นอกจากการกินยาแนะนำให้ 1. พักผ่อนให้เพียงพอ 2. กินอาหารที่ย่อยง่าย และรสไม่จัด 3. กินอาหารปรุงสุก แต่หากผู้ที่เป็นมีอาการอุจจาระมีมูกปน มีกลิ่นเหม็นผิดปกติคล้ายหัวกุ้งเน่า คลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง มีไข้สูงเกินกว่า 38.5 องศาเซลเซียส อ่อนเพลียมาก หรือมีอาการนานกว่า 48 ชั่วโมง แนะนำให้รีบไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยามากินเอง