ก้าวใหม่นร.ไทยด้วย 3 กลไก 5 นโยบาย 7 โครงการ สร้างคนรองรับศตวรรษที่ 21
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในการแถลงข่าว “3-5-7 ก้าวใหม่นักเรียนไทย ถอดรหัสนโยบายการศึกษา #ครูกัลยา" ว่า ในฐานะที่ตนเองกำกับดูแลงานในกระทรวงศึกษาธิการตามที่ได้รับมอบหมายตั้งแต่เมื่อครั้งมาทำหน้าที่รัฐมนตรีช่วยฯ เป็นเวลากว่า 2 ปี ได้ทำงานอย่างเต็มที่ เต็มความรู้ ความสามารถในการเร่งเดินหน้าปฏิรูปการศึกษาไปสู่ตัวผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง ทำให้การทำงานคืบหน้าไปมากอย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปการศึกษาต้องใช้เวลาเพราะต้องทำควบคู่กันทั้งทางด้านโครงสร้าง และการปฏิรูปไปสู่ตัวผู้เรียนโดยตรง เพื่อวางรากฐานการศึกษาไทย ให้สอดรับกับโลกในศตวรรษที่ 21 และในอนาคต ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง แต่ไม่เคยท้อถอยและมั่นคงในแนวทางที่จะนำไปสู่เป้าหมายท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างมากมายจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เป็นตัวเร่งให้ทุกคนต้องปรับตัวในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้
ทั้งนี้ เมื่อได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มอบนโยบายและแนวทางปฏิบัติให้กับผู้บริหารกระทรวงฯ ไปในทันที โดยในปี 2564 จะขับเคลื่อนนโยบายผ่าน 3 กลไกหลักคือความทันสมัย- เท่าเทียม- และยั่งยืน เพราะถือเป็นหัวใจในการพัฒนาคนไทยให้มีคุณภาพและเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ
ส่วนการจะไปสู่การปฏิรูปการศึกษาในศตวรรษ 21 อย่างแท้จริงนั้น จะต้องเร่งผลักดัน 5 นโยบายสำคัญ คือ 1.เรื่องโค้ดดิ้ง ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติ ในการวางรากฐานการปฏิรูปโดยตรงถึงเยาวชนและการพัฒนามนุษย์ ผ่านคณะกรรมการโค้ดดิ้งแห่งชาติ และปัจจุบันได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการ Coding เพื่อการปฏิรูปประเทศ ภายใต้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 2.เรื่องการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยการนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการการเรียนการสอน : STI (Science /Technology/Innovation)
3.เรื่องการอ่านเขียนเรียนประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อร่วมสมัย ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีการสอน และกระบวนการเรียนการสอนด้วยนวัตกรรมและสื่อการสอนที่ทันสมัย จัดทำคลังข้อมูลดิจิตัล เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับครู 4.อาชีวะเกษตรและประมง ด้วยการยกระดับอาชีวะศึกษาด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งระบบพัฒนาสถานศึกษาให้เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีเกษตร ถ่ายถอดเทคโนโลยีเกษตรให้กับเยาวชนและชุมชน และ 5.นโยบายการศึกษาพิเศษ เด็กพิการและเด็กด้อยโอกาสสามารถเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ
ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ ไว้มากมาย โดยเฉพาะ 7 โครงการเพื่อสร้างนักเรียนคุณภาพ ซึ่งจะยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง ประกอบไปด้วย 1.โครงการ “Coding for All ” เด็กไทยต้องได้เรียนโค้ดดิ้ง ซึ่งจะกระจายการเรียนรู้ให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ และทุกช่วงวัย 2.โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ขยายโอกาสให้นักเรียนได้เรียนวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างกว้างขวาง โดยจะเน้นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการปฏิบัติ ประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน
3.โครงการการขับเคลื่อนโรงเรียนวิทยาศาสตร์ในกำกับโดยสนับสนุนโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย 12 แห่งทั่วประเทศเพื่อขยายโอกาสให้นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษา 4.โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ โดยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จะเป็นแหล่งพัฒนาบุคลากรทางการเกษตร ที่พร้อมจะพัฒนาให้เป็น ผู้ประกอบการ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำในอนาคต ภายใต้ หลักสูตร “ชลกร” เป้าหมายที่สำคัญคือ ช่วยเหลือเกษตรกร ให้มีน้ำกิน น้ำใช้ แก้ปัญหายากจนอย่างยั่งยืน รวมถึงน้อมนำศาสตร์พระราชามาสู่สถานศึกษาโดบจัดทำเนื้อหาหลักสูตรที่เหมาะสม
5.โครงการที่นำเอานวัตกรรมมาใช้กับการเกษตรและประมง อาทิ โครงการเกษตรประณีต 1 ไร่ 1 แสน ให้ทุกตารางเมตรของพื้นที่สามารถทำเงินได้ 6.โครงการด้านการอ่าน เขียน เรียนประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อสารร่วมสมัย โดยจัดทำ AR เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านธนบัตร มีการอบรมกระบวนการสอนโดยใช้คลิป 7.โครงการการศึกษาพิเศษ การศึกษาไทยจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ จะจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาสผ่านการให้บริการในรูปแบบที่หลากหลายและมีคุณภาพ มีทักษะชีวิตที่ดี สามารถพึ่งตนเองได้
นอกจากนี้ พร้อมขับเคลื่อนงานตามนโยบายที่ต่อเนื่องโดยเฉพาะโครงการบูรณาการการศึกษาจังหวัด ซึ่งประกอบด้วยโรงเรียน 3 กลุ่มคือ 1.โรงเรียนคุณภาพของชุมชน 2.โรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง 3.โรงเรียน Stand Alone รวมทั้งนโยบายการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) อีกด้วย