อพท. เดินหน้าสร้างการรับรู้ภาคีเครือข่ายลุย 2 โครงการ ศึกษาการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา และโครงการยกระดับการเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสู่สากล เตรียมพร้อมประกาศ “บางกะเจ้า” เป็นพื้นที่พิเศษฯ คาดเร็วสุดสิ้นปีนี้เสนอ ครม. โดย นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า จากศักยภาพของพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า และชื่อเสียงในด้านการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สมบูรณ์ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตที่มีอัตลักษณ์ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่อยู่ติดกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองหลวงและเป็นอีกหนึ่งมหานครท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของโลก รัฐบาลจึงมีแนวความคิดที่จะรักษาความสมบูรณ์ดังกล่าวไว้เป็นสมบัติทางการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยที่ผู้อยู่อาศัย ชุมชน และทุกหน่วยงานในพื้นที่ต้องได้เข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการตั้งแต่ต้น และต้องได้รับการดูแล ยกระดับคุณภาพชีวิตไปพร้อมกับการยกระดับมาตรฐานให้พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความยั่งยืน ดังนั้นทาง อพท. จึงดำเนินการจัดกิจกรรมสร้างความเข้าใจในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตามหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสำหรับแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับรู้และเข้าใจถึงแล้วทางการทำงานการประกาศพื้นที่พิเศษในครั้งนี้ของ อพท. และเข้าร่วมกับ อพท. ดำเนินภารกิจครั้งนี้ให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งผลที่เกิดจากการการประกาศพื้นที่พิเศษ เป้าหมายสำคัญคือในพื้นที่เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวที่สร้างผลประโยชน์สูงสุดและเกิดผลกระทบเชิงลบน้อยที่สุดต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ประชาชนที่อยู่อาศัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้ใช้ประโยชน์และคุณค่าจากฐานทุนทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่มี และสร้างให้เกิดมูลค่าได้ และนำไปสู่ความยั่งยืนตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมาตรฐานสากล หรือ Global Sustainable Tourism Criteria (GSTC) ของสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ Global Sustainable Tourism Council และ Green Growth ตามโครงการ Our Khung BangKachao ส่วนแนวทางการดำเนินงาน ในปีงบประมาณ 2564 ทาง อพท. ได้จัดทำ 2 โครงการสำคัญ คือ 1.โครงการศึกษาความเหมาะสมการประกาศพื้นที่พิเศษคุ้งบางกะเจ้า และจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษคุ้งบางกะเจ้า และ 2.โครงการพัฒนาพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมาตรฐานสากล โดยมีเป้าหมายการพัฒนาให้คุ้งบางกะเจ้าเป็นพื้นที่ต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตามเกณฑ์ GSTC โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. รวมถึงจัดกิจกรรมสร้างความเข้าใจในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ เพื่อให้ ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ซึ่งได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาและผู้นำชุมชน เกิดความรับรู้และความเข้าใจถึงเป้าหมายการทำงานของ อพท. ที่จะมีขึ้นนับจากนี้ไป เน้นมีส่วนร่วม-แบ่งหน้าที่รับผิดชอบ สำหรับการดำเนินงานของ อพท. จะเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนในฐานะผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ และในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษคุ้งบางกะเจ้านั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะมีหน้าที่ความรับผิดชอบชัดเจน ขณะที่หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ก็จะได้รับแผนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ที่ อพท. ได้ศึกษาและจัดทำขึ้นจากโครงการดังกล่าว ไปบรรจุในแผนงานของหน่วยงานเพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณในการดำเนินงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย “เมื่อ อพท. ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมการประกาศพื้นที่พิเศษคุ้งบางกะเจ้า และจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษคุ้งบางกะเจ้า เสนอคณะกรรมการ อพท. (บอร์ด) ก่อนนำเสนอต่อกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ และสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศสช.) เห็นชอบ ตามลำดับ ก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบประกาศเป็นพื้นที่พิเศษ คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จเร็วสุดภายในปลายปี 2564” นาวาอากาศเอก อธิคุณ กล่าว อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา อพท. ได้ลงพื้นที่บางกะเจ้า พร้อมนำเกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชน เข้าไปพัฒนาจนได้ 6 เส้นทางท่องเที่ยวใน 6 ตำบลของคุ้งบางกะเจ้า ได้แก่ เส้นทางทางวิถีมอญ ที่ตำบลทรงคนอง เส้นทางครัวของคุ้ง ตำบลบางยอ เส้นทาง Inside Bangkachao ตำบลบางกะเจ้า เส้นทางวิถีคลองแพ ตำบลบางกอบัว เส้นทางวิถีตลาดน้ำ ตำบลบางน้ำผึ้ง และ เส้นทางวิถีจาก (ต้นจาก) ตำบลบางกระสอบ แบ่งตามอัตลักษณ์และวิถีชีวิต โดย อพท. ได้ทำงานในคณะทำงานด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในโครงการ OUR Khung BangKachao โดยมูลนิธิชัยพัฒนา มีหน้าที่รับผิดชอบการพัฒนาให้เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวจากวิถีชีวิต อัตลักษณ์ชุมชนและทุนทางทรัพยากรของพื้นที่ที่มีอยู่ ซึ่ง อพท. ได้ใช้หลักการมีส่วนร่วม ได้แก่ ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับผลประโยชน์ เพื่อให้คนในพื้นที่เกิดความสุขและเกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม และจากนี้ต่อไป อพท. ได้เพิ่มแนวทางการทำงานอีก 1 ร่วม คือร่วมเป็นเจ้าของ หรือ Co-Own (Ownership) เพื่อสร้างให้ทุกคนเกิดความรักและความหวงแหน สมุทรปราการพร้อมหนุนเต็มที่ ด้าน นายชัยพจน์ จรูญพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า ทางจังหวัดพร้อมสนับสนุนการทำงานของ อพท. ซึ่งทุกหน่วยงานทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐ ควรเข้าร่วมการประชุมเพื่อจะได้เข้าใจ และร่วมเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษคุ้งบางกะเจ้าของ อพท. มีเป้าหมายพัฒนาให้คุ้งบางกะเจ้าเป็นพื้นที่ต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมาตรฐานสากล ซึ่งมีความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์ แผนงานและกลยุทธ์การพัฒนาของจังหวัดสมุทรปราการ อีกทั้งการยกระดับพื้นที่คุ้งบางกระเจ้าดังกล่าว จะทำให้หน่วยงานภาคีเครือข่ายในจังหวัดได้เรียนรู้การพัฒนาจากผู้เชี่ยวชาญการท่องเที่ยว ได้บูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ มีเป้าหมายเดียวกัน พร้อมกันนี้ทางจังหวัดยังสามารถนำองค์ความรู้ แนวทางการพัฒนาที่เกิดผลสัมฤทธิ์นี้ ไปขยายผลยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ในจังหวัด ยิ่งทำให้การขับเคลื่อนการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดบรรลุวิสัยทัศน์ได้รวดเร็วขึ้น