จากสถานการณ์ภัยแล้งได้ขยายวงกว้างครอบคลุมหลายพื้นที่ อาทิ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตร โดยปริมาณน้ำภายในแหล่งน้ำชุมชนที่ใช้ผลิตน้ำประปาหมู่บ้านโนนกราด ต.ลำคอหงส์ อ.โนนสูง จ.นครราชสีมามีสภาพแห้งขอด ส่งผลให้ชาวบ้านกว่า 40 หลังคาเรือนได้รับความเดือดร้อน ด้านจังหวัดพิจิตร ก็ประสบปัญหาปริมาณน้ำในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำยมแห้งขอด ส่งผลให้ฝายแม้วของชาวบ้านวังลูกช้าง ตำบลสามง่าม อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ไม่สามารถกักเก็บน้ำและแห้งลงตามสภาพแม่น้ำยมด้วย ทำให้ชาวบ้านบริเวณดังกล่าว ขาดแคลนน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตรเช่นกัน
เมื่อวันที่ 3 มี.ค. นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะโฆษกประจำกระทรวง เปิดเผยว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้บูรณาการการบริหารจัดการทั้งน้ำใต้ดินและน้ำผิวดิน ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดพิตร โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมทรัพยากรน้ำ ดังนี้
จังหวัดนครราชสีมา หมู่บ้านโนนกราด ตำบลลำคอหงษ์ อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา อยู่ในเขตความรับผิดชอบของ กรมทรัพยากรน้ำ โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 5 และองค์การบริหารส่วนตำบลลำคอหงษ์ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล โดยสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 5 ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำพร้อมเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกรณีวิกฤตน้ำตามที่ร้องขอมาอย่างต่อเนื่อง และที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2563 ถึง 21 กุมภาพันธ์ 2564 ได้ดำเนินการสูบน้ำเข้าพื้นที่เพื่อเป็นน้ำต้นทุนก่อนเข้าสู่ฤดูแล้งแล้วกว่า 195,600 ลูกบาศก์เมตร
นอกจากนั้น ยังได้พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเป็นแหล่งรองรับน้ำในช่วงฤดูฝน และสามารถกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในฤดูแล้งอีกด้วย
ทั้งนี้จากการประสานนายกองค์การบริหารส่วนตำบลถึงประเด็นข่าวดังกล่าวทราบว่า แหล่งน้ำชุมชนแห่งนี้เป็นน้ำดิบเพื่อการผลิตระบบประปาและสนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตรแก่ประชาชนบ้านโนนกราด จำนวน 3 หมู่บ้าน ประกอบด้วยหมู่ที่ 7, หมู่ที่ 10 และหมู่ที่ 12 ปัจจุบันทาง อบต. ได้ดำเนินการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อยู่ ซึ่งทาง อบต. ยืนยันว่าปริมาณน้ำที่มียังคงเพียงพอและไม่เข้าสู่ขั้นวิกฤต จึงยังไม่ได้ร้องขอการสนับสนุนเครื่องมือและบุคลากรเพิ่มเติมเข้ามายังหน่วยงานในพื้นที่ ซึ่งหากมีการร้องขอเข้ามา ก็สามารถลงพื้นที่ดำเนินการช่วยเหลือได้ทันที
สำหรับแหล่งน้ำธรรมชาติตามภาพข่าวเป็นสระน้ำในหมู่บ้านสระหนองกุ่ม ซึ่งทางอำเภอได้ของบประมาณดำเนินโครงการบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา งบประมาณจำนวน 420,000 บาท ดำเนินการขุดลอกเสร็จเรียบร้อยแล้วและสามารถใช้กักเก็บน้ำฝนในช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงและจะสามารถกักเก็บน้ำให้กับประชาชนได้อีกทางหนึ่ง
และเพื่อเป็นการแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน ได้มีแผนการช่วยเหลือประชาชนในระยะยาว โดยการลงพื้นที่สำรวจเหมาะสมเพิ่มเติม และจะนำเข้าแผนการขอรับสนับสนุนงบประมาณเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว ให้มีน้ำต้นทุนเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและการเกษตรตลอดทั้งปีอย่างยั่งยืนต่อไป
ในส่วนของการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล พบว่า มีความต้องการขุดบ่อบาดาล เพื่อเป็นแหล่งน้ำในหมู่บ้าน แต่ศักยภาพน้ำบาดาลในพื้นที่มีความเค็ม ไม่เหมาะกับการเจาะน้ำบาดาล เห็นควรใช้วิธีผันน้ำจากอีกหมู่บ้าน แบบที่ใช้อยู่ปัจจุบัน และอาจมีการสร้างแหล่งน้ำผิวดินสำรองเพิ่มเติม ส่วนการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น องค์การบริหารส่วนตำบลได้ดำเนินการแก้ไขโดยส่งน้ำจากระบบประปาบ้านหนอง เครือชุด หมู่ 7 ระยะทาง 1 กิโลเมตร ได้ใช้อย่างเพียงพอแล้ว
นอกจากนี้ พื้นที่ในจังหวัดนครราชสีมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้ดำเนินโครงการด้านแหล่งน้ำ ปีงบประมาณประจำปี 2563-2564 และงบกลางปี 2563 รวมจำนวน 14 แห่ง ดำเนินการแล้วเสร็จแล้วจำนวน 3 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 11 แห่ง หากดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด จะสามารถเพิ่มน้ำต้นทุนได้ถึง 6.44 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่เกษตรกรรมได้รับประโยชน์ 25,174 ไร่ และประชาชนได้รับประโยชน์ 5,353 ครัวเรือน
สำหรับจังหวัดพิจิตร ซึ่งอยู่ในเขตความรับผิดชอบของสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 9 และสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 7 ได้มีการดำเนินโครงการด้านแหล่งน้ำ ปีงบประมาณประจำปี 2563-2564 และงบกลางปี 2563 รวมจำนวน 6 แห่ง ดำเนินการแล้วเสร็จแล้ว จำนวน 1 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 5 แห่ง หากดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด จะสามารถเพิ่มน้ำต้นได้ถึง 4.02 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่เกษตรกรรมได้รับประโยชน์ 4,025 ไร่ และประชาชนได้รับประโยชน์ 2,731 ครัวเรือน การดำเนินการโครงการดังกล่าวเป็นการแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ โดยพื้นที่บ้านวังลูกช้าง ตำบลสามง่าม อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของกรมชลประทาน
ในส่วนของการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล พบว่า ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้เดือดร้อนหรือขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคแต่อย่างใด ปัจจุบันใช้น้ำจากระบบประปาบาดาลในหมู่บ้านวังลูกช้าง หมู่ที่ 8 ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการของชาวบ้านทุกคนประมาณ 110 หลังคาเรือน ส่วนน้ำเพื่อการเกษตรใช้จากบ่อบาดาลของชาวบ้านเอง โดยเจาะที่ความลึก 40-60 เมตร อาชีพหลักของชาวบ้าน คือ ทำนา (หน้าฝน) พื้นที่หมู่บ้านเป็นพื้นที่รับน้ำท่วม หน้าน้ำจะน้ำท่วม ชาวบ้านจะทำอาชีพเสริม คือ ประมงในแม่น้ำยม
นอกจากนี้ ในภาพรวม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำแผนปฏิบัติการบรรเทาภาวะน้ำแล้งอย่างต่อเนื่อง โดยสนับสนุนศูนย์ผลิตน้ำสะอาด 7 จุด ติดตั้งจุดแจกจ่ายน้ำ 136 จุด จุดสูบน้ำช่วยน้ำแล้ง 190 จุด เครื่องสูบน้ำ 295 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 28 คัน อ่างเก็บน้ำ 65 แห่ง สถานีเตือนภัยน้ำหลาก-ดินถล่ม 1,547 สถานี สถานีโทรมาตร 336 สถานี สถานีกล้อง CCTV 139 สถานี และสถานีอุตุ-อุทกวิทยา 378 สถานี บุคลากรเตรียมพร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์ 146 คน ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เตรียมพร้อมจำนวน 258 คน และผู้รู้รวม 1,547 คน
โดยที่ผ่านมา ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563–1 มีนาคม 2564 โดยได้สูบน้ำช่วยเหลือประชาชน ปริมาณ 19,408,970 ลูกบาศก์เมตร ปริมาณการแจกจ่ายน้ำ 1,751,226 ลิตร แจกจ่ายน้ำดื่มบรรจุขวด 8,632 ขวด ประชาชนได้รับประโยชน์แล้ว 354,314 ครัวเรือน สนับสนุนน้ำให้พื้นที่การเกษตร 148,776 ไร่ และได้ดำเนินโครงการจัดหาน้ำต้นทุนและระบบกระจายน้ำ สนับสนุนพื้นที่เกษตรกรรม และน้ำต้นทุนสำหรับอุปโภค-บริโภค (น้ำต้นทุนประปาหมู่บ้าน) ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน โดยการขุดลอก ปรับปรุง ซ่อมแซม แหล่งน้ำและก่อสร้างระบบกระจายน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปีงบประมาณประจำปี 2563-2564 และงบกลางปี 2563 รวมจำนวน 560 แห่ง ในพื้นที่ที่เหมาะสมและมีศักยภาพทั่วประเทศ (ในภารกิจของกรมทรัพยากรน้ำ) ซึ่งขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จแล้วจำนวน 181 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 379 แห่ง หากดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด จะสามารถเพิ่มน้ำต้นได้ถึง 323.78 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่เกษตรกรรมได้รับประโยชน์ 490,305 ไร่ และประชาชนได้รับประโยชน์ 153,759 ครัวเรือน
"ประชาชนสามารถขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับปัญหาด้านทรัพยากรน้ำ และน้ำบาดาล ได้ที่ สายด่วน 1310 และศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ภัยแล้ง โทรศัพท์ 0 2666 7000 กด 1 หรือ 09 5949 7000 ตั้งแต่เวลา 08.30-18.30 น. ทุกวัน จนกว่าจะสิ้นสุดสถานการณ์ภัยแล้ง หรือรับแจ้งผ่านระบบออนไลน์"โฆษกกระทรวงฯ กล่าว